คอลัมน์: กา@ครั้งหนึ่ง: สงครามโลกครั้งที่ ๒ นำมาซึ่งหอนาฬิกา

 16 ก.ค. 2560 04:00 น. | อ่าน 8
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

ได้ยินกันไม่บ่อยนัก หรืออาจไม่เคยได้ยินมาก่อนเลยกับประโยค ที่ว่า การฟื้นฟูประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อาจเป็นเพราะสงครามเลิกไปตั้งแต่ปี 2488 นานเกินไปที่จะมีใครนำมาพูดถึงในปัจจุบัน แต่คำว่าการฟื้นฟูประเทศหลังสงครามนั้นดูยิ่งใหญ่ มีงานที่ทั้งภาครัฐ และประชาชนต้องทำมากมาย

ไปดูกันว่าหลังเสร็จสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งหลายจังหวัดในประเทศไทยได้รับความเสียหาย จากการโจมตีโดยทั้งฝ่ายญี่ปุ่น และสัมพันธมิตร เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ทั้งในด้านวัตถุและวิถีชีวิต ที่รัฐบาลยุคนั้นต้องสร้างขึ้นมาใหม่

การที่รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ตราพระราชบัญญัติการผังเมือง และผังชนบท พ.ศ.2495 สะท้อนให้เห็นความสำคัญของรัฐบาลที่มี ความคิดที่จะจัดการกับพื้นที่ทางกายภาพ แม้โดยชื่อกฎหมายคล้ายกับว่าได้ให้ความสำคัญกับการควบคุมและจัดการทั้งเมืองและชนบท แต่โดยสาระแล้วคือเครื่องมือ ในการบริหารจัดการเมืองนั่นเอง

เจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้คือ เพื่อสร้างเมืองขึ้นใหม่ เพื่อสร้างเมืองหรือส่วนของเมืองขึ้นแทนเมืองหรือส่วนของเมืองที่ได้รับความเสียหาย เพราะไฟไหม้ แผ่นดินไหว หรือภัยพินาศอย่างอื่น หรือ...เพื่อบูรณะที่ดินเมือง หรือที่ดินชนบทอันระบุเขตไว้หรือจัดให้มี หรือจัดให้ดียิ่งขึ้นซึ่งสุขลักษณะ หรือความสะดวกสบายในเขตนั้น หรือเพื่อส่งเสริมการเศรษฐกิจ หรือสงวนไว้ซึ่งอัครเศรษฐกิจ หรือสงวนไว้ซึ่งอัครที่มีอยู่ หรือวัตถุอื่นอันมีค่าที่น่าสนใจในทั้งสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ หรือศิลปกรรม หรือภูมิประเทศที่งดงม หรือที่มีคุณค่าน่าสนใจในทั้งธรรมชาติ รวมทั้งต้นไม้เดี่ยว หรือต้นไม้หมู่

นอกจากการควบคุมจัดการเรื่องเมืองแล้ว รัฐมีความพยายามที่รื้อฟื้นศูนย์กลางอำนาจรัฐที่ถูกทำลายลงในสถานการณ์สงครามโลก ด้วยการกำหนดนโยบายที่จะปรับปรุงซ่อมแซมอาคารราชการต่างๆ ตามที่คณะรัฐมนตรีได้ลงมติ วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2491 ให้กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ เตรียมจัดทำแผนการซ่อมสร้างสถานที่ราชการ มีการสำรวจอาคาร

กระทรวงกลาโหมเสนอแผนประมาณการเงินสูงสุดเป็นเงิน 314,433,533 บาท รองลงมาคือ กระทรวงมหาดไทย 83,685,680 บาท ซึ่งรวมไปถึงอาคาร ศาลากลางจังหวัด 13 หลัง ที่ว่าการอำเภอ 72 หลัง ที่ว่าการกิ่งอำเภอ 24 หลัง และบ้านพักข้าราชการต่างๆ ในส่วนภูมิภาค 1,510 หลัง

สาเหตุที่จะต้องทำการซ่อมสร้างก็คือ สถานที่ราชการบางแห่งไม่มี ต้องอาศัยตามโรงเรียนและศาลาวัดอยู่ บางแห่งก็พังทลาย เนื่องจากในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 การใช้เงินจำนวนมากในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นไปได้ยาก ที่จะอนุมัติให้กับทุกโครงการ

อย่างไรก็ตาม ในหนังสือราชการที่ น.335/ 2492 ลงวันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2492 ระบุถึงความสำคัญของสถานที่ราชการในฐานะที่แสดงถึงเกียรติศักดิ์ของประเทศชาติในกรณีที่ชาวต่างประเทศได้มาพบเห็น ด้วยงบประมาณที่มหาศาลทำให้ต้องแบ่งงบประมาณใช้เงินตามความจำเป็นก่อนหลังเป็น 3 บัญชี

ที่น่าสังเกตคือสถานที่ราชการที่ยังไม่มีอาคารเป็นของตนเองคือ ศาลากลางจังหวัด 2 หลัง ได้แก่ จังหวัดยะลา และสุราษฎร์ธานี ซึ่งทั้ง 2 แห่งอาศัยโรงเรียนจีน ไม่เพียงเท่านั้นมีการระบุไว้ว่าทูตจีนขอสถานที่คืน นอกจากนั้นยังรวมไปถึงที่ว่าการอำเภอ จำนวน 12 หลัง และที่ว่าการกิ่งอำเภอ จำนวน 15 หลัง ซึ่งประสบปัญหาจากการไม่มีพื้นที่เป็นของตนเองต้องอาศัยหน่วยงานอื่น

สิ่งที่น่าสนใจ คือ การสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจในการจัดการเปลี่ยนแปลงเมืองผ่านการ กระทำของข้าราชการฝ่ายปกครองส่วนภูมิภาค ที่เป็นฝ่ายริเริ่มการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ที่มีอำนาจแต่ขาดงบประมาณสนับสนุนการทำงาน ความสามารถในการฟื้นฟูสถานที่ราชการ จึงเป็นไปตามศักยภาพของผู้นำที่สามารถจะประสานประโยชน์ภายในท้องถิ่นเป็นหลัก การริเริ่มสร้างหอนาฬิกาประจำเมือง

แม้จะเป็นการดำเนินการโดยภาครัฐ แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับตัวเมือง ตัวเทศบาลที่กำลังขยายตัวในปลายทศวรรษ 2490 รัฐบาลเลือกที่จะใช้หอนาฬิกาประจำเมืองในฐานะสัญลักษณ์ของคติเรื่องเวลาสมัยใหม่ที่มีชีวิต

ขณะที่รัฐบาลก็เห็นว่าเป็นประโยชน์แก่ประชาชน และเชื่อว่าการตรงต่อเวลาจะเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมที่สำคัญ ด้วยเหตุนี้จึงเลือกใช้หอนาฬิกาเมือง หรือหอนาฬิกาสาธารณะเป็นสิ่งก่อสร้างที่เป็นตัวแทนสำคัญ และมีคำสั่งให้เทศบาลทุกแห่ง พิจารณาสร้างหอนาฬิกามาตั้งแต่ปี พ.ศ.2497 เป็นต้นมา

ในปี พ.ศ.2495 มีอยู่ 6 แห่ง ที่ดำเนินการสร้างเสร็จแล้ว คือเทศบาลตำบลเบตง จังหวัดยะลา เทศบาลเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ เทศบาลเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ เทศบาลตำบลอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เทศบาลเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง เทศบาลนครธนบุรี จังหวัดธนบุรี

จากนั้นสร้างหอนาฬิกาอีกหลายจังหวัดตามมา เช่น เทศบาลตำบลศรีราชา จังหวัดชลบุรี เทศบาลเมืองพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เทศบาลเมืองพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เทศบาลเมืองราชบุรี เทศบาลเมืองหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เทศบาลเมืองสระบุรี เมืองสิงห์บุรี เทศบาลเมืองเชียงใหม่ เทศบาลเมืองสุราษฎร์ธานี เทศบาลตำบลนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี เทศบาลเมืองสุโขทัย เทศบาลเมืองตาก และเทศบาลเมืองลำปาง เป็นต้น

จากข้อสังเกตเบื้องต้นจะเห็นได้ว่าหอนาฬิกาจะตั้งอยู่บริเวณจุดสำคัญของเมืองในที่สาธารณะ โดยเฉพาะที่เป็นวงเวียนกลางเมือง

อาจกล่าวได้ว่า หอนาฬิกานอกจากจะมีนัยถึงคติเวลาแบบใหม่แล้ว ยังเป็นส่วนเติมเต็มขององค์ประกอบเมืองให้มีความหมายที่ลงตัวมากขึ้นอีกด้วย

ถึงกระนั้น ตามนโยบายดังกล่าวก็ไม่สามารถจะผลักดันให้สร้างสำเร็จได้ทั่วประเทศ ด้วยปัญหาความพร้อมของงบประมาณแต่ละเทศบาล กว่าที่การดำเนินการจะแล้วเสร็จ ก็ต้องรอไปจนถึงในทศวรรษต่อมา

อย่างไรก็ตาม แทนที่หอนาฬิกาประจำเมืองจะเป็นลักษณะที่แสดงความเป็นเมือง หรือท้องถิ่นนั้นๆ ด้วยข้อจำกัดของบุคลากร ในการออกแบบและก่อสร้าง ทำให้รูปแบบของหอนาฬิกาไม่ถึงกับแตกต่างกันมากนักด้วยลักษณะการใช้งาน และความหมายที่แฝงอยู่ หอนาฬิกาประจำเมืองจึงสะท้อนลักษณะถึงความเป็นเมืองแห่งการค้า และบริการได้เป็นอย่างดี.

บรรยายใต้ภาพ

หอนาฬิกาเทศบาลตำบลเบตง จังหวัดยะลา

หอนาฬิกาเทศบาลเมืองหาดใหญ่ สงขลา--จบ--

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

Comment
Related
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.