ป้อมห้ามถกเถียง คุยปรองดอง ตั้งแล้ว4อนุฯ เดินหน้าทันที นัดแรก-วันนี้

 09 ก.พ. 2560 08:00 น. | อ่าน 11
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

“ประวิตร” เดินเครื่องปรองดอง ตั้งอนุ 4 ชุด พร้อมสั่งกองทัพ-จังหวัดปูพรมระดมความเห็นทั่วประเทศผสานข้อมูลแนวทางปรองดองที่เคยศึกษาไว้ในอดีตมาผสมผสานเป็นแผนสู่สันติ ยันรูปแบบระดมสมองโชว์กึ๋นออกไอเดียไม่มีถกเถียงชวนทะเลาะ มอบปลัด กห.-ผบ.ทบ.-ผบ.สส. หัวหอกคุมพรรคการเมือง ป.ย.ป.เชิญ 40 ผู้เชี่ยวชาญร่วมเป็นกรรมการ ทาบ “ดร.ซุป” ร่วมด้วยช่วยคิด เผยชื่อ “บวรศักดิ์-บัณฑูร” ถึงมือนายกฯแล้ว อสส.ยินดีร่วมคณะปรองดอง ยันไม่มีผลกระทบงานหลัก “มีชัย” ยังไม่รู้ ก.ม.ลูกเสร็จทันปีนี้หรือไม่ เล็งปรับแต่งองค์กรอิสระลดงานซ้ำซ้อน กระชับการทำงานเพิ่มประสิทธิภาพ ป.ป.ช. “ทักษิณ” ฉุนถูกตัดต่อภาพคู่พ่อค้ายาเสพติด ส่งทนายฟ้องแหลก ปชป.แนะนายกฯทบทวนโรงไฟฟ้าถ่านหิน

สืบเนื่องจากกรณีที่รัฐบาลจะเดินหน้าปฏิรูปประเทศ กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ และสร้างความสามัคคี ปรองดองอย่างจริงจัง ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทำหน้าที่บัญชาการคณะกรรมการทุกชุดด้วยตัวเองนั้น

“ประวิตร” ตั้ง 4 อนุเดินหน้าปรองดอง

เมื่อวันที่ 8 ก.พ. เวลา 09.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่จะมีขึ้นครั้งแรกในวันที่ 9 ก.พ.ว่า จะหารือถึงหัวข้อ 10 ประเด็นที่ตั้งไว้ ว่าจะมีอะไรบ้างที่ต้องพิจารณาและรับฟังข้อคิดเห็นจากทุกฝ่าย โดยจะตั้งอนุกรรมการขึ้นมา 4 คณะ ประกอบด้วยคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็น คณะอนุกรรมการบูรณาการ คณะอนุกรรมการข้อตกลง และคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ พร้อมทั้งกำหนดลงไปในระดับกองทัพภาคและทุกจังหวัดลงไปรับฟังความคิดเห็นในแต่ละพื้นที่ด้วย จากนั้นจะนำผลการศึกษาแนวทางปรองดองของนายคณิต ณ นคร และนพ.ประเวศ วะสี ตลอดจนข้อมูลที่จะได้ใหม่ทั้งหมดทั่วประเทศ มาบูรณาการร่วมกันว่าจะมีประเด็นอะไรที่จะทำให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติที่ทุกฝ่ายต้องการ

ไม่มีถกเถียงมีแต่เสนอความคิด

“ในการประชุมจะไม่มีการถกเถียง แต่จะให้ข้อคิดเห็นและเสนอแนะจากทุกฝ่าย เพื่อพิจารณาว่าอะไรเป็นข้อตกลงร่วมกันให้สามารถเดินร่วมกันไปได้ในอนาคต โดยที่ประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด แล้วนำสิ่งที่เป็นข้อตกลงร่วมกันนี้เสนอต่อคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ต่อไป” รองนายกฯกล่าว

ให้ปลัด กห.–ผบ.ทบ.ฟังพรรคการเมือง

พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า หลังจากตั้งคณะอนุกรรมการทั้ง 4 คณะแล้ว แต่ละคณะจะไปประชุมกันเอง ส่วนการเชิญพรรคการเมืองมาร่วมพูดคุยนั้น เป็นหน้าที่ของคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นที่จะไปหารือกันว่าจะเชิญพรรคการเมืองใดมาเป็นพรรคแรก แต่หลักเกณฑ์จะใช้วิธีเรียงตามลำดับตัวอักษรตั้งแต่ ก.ไก่ ไป เมื่อถามว่ามองคนที่จะมาเป็นประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นไว้แล้วหรือยัง รองนายกฯตอบว่า มีหมด ทั้งปลัดกระทรวงกลาโหม ผบ.ทหารสูงสุด ผบ.ทบ.

ป.ย.ป.จีบ “ศุภชัย” นั่งผู้ทรงคุณวุฒิ

เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ เลขานุการ ป.ย.ป.ให้สัมภาษณ์ถึงการตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ป.ย.ป.ว่า ในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ 30-40 คน จะมาอยู่ในคณะกรรมการทั้ง 4 ชุด เน้นที่คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศมากหน่อย เพราะมีการทำงานในหลายมิติ โดยตอบรับแล้ว 80 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 20 เปอร์เซ็นต์ อยู่ระหว่างการทาบทามรอการตอบรับ และบางคนยังอยู่ต่างประเทศ อาทิ นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) และอดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (ยูเอ็นซีทีเอดี) พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการและบุคลากรของสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า เป็นต้น โดยจะทำให้แล้วเสร็จและนำเรียนนายกฯในวันที่ 8 ก.พ.

ถกเช็กสต๊อกงานยุทธศาสตร์

นายสุวิทย์กล่าวว่า จะประชุมฝ่ายที่เกี่ยวข้องเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อเช็กสต๊อกยุทธศาสตร์กระทรวงได้ดำเนินการไปถึงไหนแล้ว ตอบโจทย์หรือไม่ อยู่ในระดับเดียวกันหรือไม่ ถือเป็นทางเทคนิค และนายกฯได้ให้โจทย์การทำยุทธศาสตร์ภาคด้วย นายกฯได้เริ่มขับเคลื่อนเริ่มด้วยการให้งบแสนล้านใน 18 กลุ่มจังหวัด แต่ด้วยกลุ่มที่มีจำนวนมาก ไม่มีเจ้าภาพชัดเจน ไม่รู้ผู้ว่าราชการจังหวัดคนใดจะเป็นตัวหลัก จึงให้กำหนดเป็นยุทธ– ศาสตร์ 6 ภาค โดยกระทรวงมหาดไทยรับตรงนี้ไป แบ่งงานรองปลัดรับผิดชอบ เช่น แยกไปเป็นภาคตะวันออก หรือแยกส่วนของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้บวกกับอีก 2 จังหวัด เป็นต้น ดังนั้นเรื่องของยุทธศาสตร์จะประกอบด้วยยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์ภาค และยุทธศาสตร์กระทรวง

แบ่ง 6 วงเล็กสรุปวาระปฏิรูป

เลขานุการ ป.ย.ป.กล่าวว่า ในส่วนของงานปฏิรูปประเทศ เบื้องต้นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้กำหนด 27 วาระปฏิรูปเร่งด่วน ตนได้หารือกับ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร และ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกฯ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ และหารือกับ ร.อ.ทินพันธ์ นาคะตะ ประธาน สปท.แล้ว สปท.จะขยับวาระการปฏิรูปเล็กน้อยเพื่อเชื่อมต่อการปฏิรูปของรองนายกฯ ทั้ง 6 ท่าน โดย สปท. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะพูดคุยวงเล็กรองนายกฯทั้ง 6 ด้าน แล้วสรุปให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน เพื่อให้การทำงานของแม่น้ำ 3 สายไม่เกิดการทับซ้อน

ทีมปลัด มท.คุมยุทธศาสตร์ 6 ภาค

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับยุทธศาสตร์ภาคทั้ง 6 ภาค ที่มีกระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบ โดยมีปลัดและรองปลัดกระทรวงมหาดไทย กำกับดูแล ประกอบด้วย 1.ภาคตะวันออก นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบ ส่วนของรองปลัดกระทรวงมหาดไทย แบ่งเป็น 2.ภาคกลาง นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ 3.ภาคเหนือ นายณัฐพงศ์ ศิริชนะ 4.ภาคใต้ นายประยูร รัตนเสนีย์ 5.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายชยพล ธิติศักดิ์ และ 6.สามจังหวัดชายแดนใต้บวก 2 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จ.นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลาและสตูล มีนายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน รับผิดชอบ

“บวรศักดิ์–บัณฑูร” นั่งผู้ทรงคุณวุฒิ

ต่อมาเวลา 16.30 น. เลขานุการ ป.ย.ป.ได้นำรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิใน ป.ย.ป.ที่จะไปอยู่ในคณะกรรมการทั้ง 4 ชุด ส่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการ ป.ย.ป.เรียบร้อยแล้ว ประมาณ 40 คน อาทิ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธาน คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการและบุคลากรของสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า เป็นต้น ขณะที่ นพ.ประเวศ วะสี และนายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) จะขอส่งตัวแทนเข้าร่วม รวบรวมผลการศึกษาเสนอมายัง ป.ย.ป.แทน ไม่ขอเข้ามานั่งทำงาน ส่วนนายศุภชัยและนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ซึ่งวางไว้เพื่อทาบทามมาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ขณะนี้ยังไม่สามารถติดต่อได้

สปท.ส่งรองประธานนั่ง ป.ย.ป.

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้ลงนามแต่งตั้ง ป.ย.ป. จำนวน 4 คณะ ล่าสุด ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท.ได้มอบหมายให้นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสปท.คนที่ 1 เป็นกรรมการในคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง มอบหมายให้ น.ส.วลัยรัตน์ ศรีอรุณ รองประธาน สปท.คนที่ 2 เป็นกรรมการในคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ

อสส.ยินดีอยู่ในคณะปรองดอง

เรือโทสมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงกรณีการแต่งตั้งอัยการสูงสุดให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองว่า อัยการสูงสุดถือเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญองค์กรหนึ่งที่มีภารกิจในกระบวนการยุติธรรม ในความคิดเห็นส่วนตัวการให้มีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ไม่เป็นปัญหาในการทำงาน เพราะจะได้นำความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ที่ปฏิบัติเข้ามาช่วยการทำงาน เป็นส่วนเสริมในด้านการมีส่วนร่วมเสนอความคิดเห็นในการแก้ปัญหาความขัดแย้งของสังคมไทยไปสู่การสร้างความปรองดองได้ อัยการสูงสุดในฐานะที่เป็นหัวหน้าของอัยการทั้งประเทศมีข้อมูล ในงานของอัยการที่จะช่วยทำให้บ้านเมืองสงบสุข จึงถือเป็นนิมิตหมายอันดี

กกต.วางยุทธศาสตร์เลือกตั้ง 20 ปี

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายภูมิพิทักษ์ กองแก้ว รักษาการรองเลขาธิการ กกต. แถลงผลการประชุม กกต.ว่า ที่ประชุม กกต.ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดำเนินการจัดทำแผนแม่บทยุทธศาสตร์ กกต. 20 ปีเพื่อให้สอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล กำหนด 5 ยุทธศาสตร์คือ 1.การจัดการเลือกตั้งที่คุ้มค่าและสะดวกต่อประชาชน 2.การจัดการเลือกตั้งให้เป็นที่ยอมรับ พัฒนาระบบการสอบสวน และกระบวนการการเลือกตั้งที่โปร่งใส 3.การจัดการเลือกตั้งที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการ กำกับและตรวจสอบในการเลือกตั้งทุกขั้นตอนอย่างมีคุณภาพ 4.การส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้แก่พรรคการเมืองและองค์กรทางการเมือง 5.การพัฒนาองค์การสู่ความเป็นมืออาชีพ เมื่อ กกต. มีมติให้ประกาศใช้แผนแม่บท กกต. 20 ปีแล้ว จะส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสำนักงบประมาณต่อไป

“มีชัย” ไม่รู้ ก.ม.ลูกเสร็จปีนี้หรือไม่

เมื่อเวลา 13.30 น. รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายมีชัยให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าทำตามตารางเวลาที่กำหนดไว้ ในระหว่างนี้ก็ทำล่วงหน้า รอรัฐธรรมนูญประกาศใช้จึงจะเริ่มต้นนับหนึ่งส่งไปได้ ส่วนจะเสร็จทันภายในปีนี้หรือไม่ ยังบอกไม่ได้ ยังไม่รู้จะใช้เวลานานเท่าไร ข้อสำคัญคือเมื่อกฎหมายลูกออกมาแล้ว ยังต้องไปดูว่า กกต.กับพรรคการเมืองจะใช้เวลานานเท่าไรในการปรับให้เข้ากับเนื้อหาใหม่ เขาคงปรับตอนนี้ยังไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าเมื่อผ่าน สนช.แล้วหน้าตาจะเป็นอย่างไร ในส่วนของกฎหมายว่าด้วย กสม. อนุกรรมการยังฟังความเห็นอีกหลายกลุ่มเพื่อหาข้อยุติให้ได้ แต่กรธ.ดูรอบแรกไปแล้ว คงไม่มีปัญหาอะไร พยายามให้ตรงกับภารกิจของเขาจริงๆ สามารถทำงานได้โดยเร็ว เนื่องจากเราพบว่าองค์กรอิสระส่วนใหญ่ทำงานด้วยระบบอนุกรรมการ ทำให้การทำงานล่าช้า ก็เลยหาทางให้กรรมการตัวคนเดียวสามารถทำงานได้ ตรงตามคุณสมบัติกรรมการองค์กรอิสระในร่างรัฐธรรมนูญว่าต้องเป็นคนกล้าหาญ เมื่อเข้าไปทำงานแล้วต้องกล้าตัดสินใจ

เล็งรวมศูนย์ร้องเรียนลดซ้ำซ้อน

นายมีชัยกล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 ก.พ.ได้เชิญตัวแทนจากศาลฎีกามาหารือ คุยกันรู้เรื่องหมดแล้ว โดยกระบวนการค่อนข้างจะไปในทางที่ว่า ให้จำเลยเลือกว่าจะมาศาลหรือไม่ ถ้าไม่มาก็พิจารณาลับหลังได้ ถือว่าให้สิทธิจำเลยแล้ว เพราะกระบวนการยุติธรรมมันต้องเดินหน้า ดีกว่าไปขยายอายุความ หากไม่เริ่มนับอายุความ ความเป็นธรรมมันก็จะไม่เกิด เช่น อีก 25 ปีค่อยพิจารณา ถามว่าพยานหลักฐานตอนนั้นจะยังมีอยู่หรือไม่ ตอนนี้ กรธ.กำลังพิจารณาร่างกฎหมายของ ป.ป.ช. ซึ่งตัวร่างยาวมาก กำลังจะตัดให้สั้น มันยาวเกินความจำเป็น ด้านผู้ตรวจการแผ่นดินก็ทำไปแล้ว จะรับฟังความเห็นวันที่ 15 ก.พ. ส่วนการทำงานร่วมกันระหว่าง กสม.และผู้ตรวจฯนั้น เราเริ่มวางความคิดว่าถ้าเรื่องใกล้เคียงกัน ให้ตกลงกันให้มีคนทำคนเดียว ทุกวันนี้แต่ละหน่วยงานทำเหมือนกันหมด มีคนไปร้อง กสม. พอผลออกมาไม่พอใจ ก็ไปร้องผู้ตรวจฯ ไม่พอใจก็ไปต่อ ป.ป.ช. ไม่พอใจก็ไป สตง.อีก

กรธ.วางสเปก ป.ป.ช.กระชับฉับไว

ต่อมาเวลา 15.00 น. นายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. มีบางเนื้อหาที่ต้องให้ทาง ป.ป.ช.มาชี้แจง และบางเรื่อง ป.ป.ช.ได้เขียนยืดยาวเกินไป กรธ.คิดว่าจะทำให้การค้นหาความจริงไม่มีประสิทธิภาพ ไม่บรรลุผลจึงเห็นว่า ป.ป.ช.น่าจะปรับเปลี่ยนให้กระชับมากกว่านี้ ส่วนกลไกการสรรหากรรมการ ป.ป.ช.อาจจะต้องให้ความมั่นใจว่าต้องมีความเป็นอิสระ และมีคุณสมบัติสูง โดยพยายามอิงองค์อิสระอื่น เช่น กกต. ผู้ตรวจการแผ่นดิน สำหรับกฎหมายลูกที่พิจารณาเสร็จแล้วคือ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วย กกต. เมื่อใดที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ก็จะสามารถส่งร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับให้ สนช.ได้ทันที ส่วนร่าง พ.ร.บ.ที่เหลืออาจจะต้องแก้ไขปรับปรุงให้เกิดความรอบคอบ

“วิษณุ” พลิ้วอย่าคาดคั้นวันเลือกตั้ง

เมื่อเวลา 12.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นาวิษณุ เครืองาม รองนายกฯกล่าวถึงกรณีที่ไปกล่าวปาฐกถาพิเศษ “ปฏิรูปกฎหมาย บริบทประเทศไทยบนเวทีโลก” ระบุจะมีการเลือกตั้งอีกประมาณ 1 ปีว่า การเลือกตั้งที่บอกว่า 1 ปีนั้น นับจากวันนี้โดยเป็นการประมาณ อย่าไปคาดคั้นวันที่แน่นอน ที่ออกมาพูดเช่นนั้นเพื่อให้รู้ว่าเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้ หลายอย่างต้องลงมือปฏิบัติทันที เช่น มาตรา 77 ในรัฐธรรมนูญ กำหนดว่าการออกกฎหมายต้องรับฟังความเห็นทุกขั้นตอนนั้น ยอมรับว่าจะทำให้การออกกฎหมายยากขึ้น ขั้นตอนมากขึ้นแต่ระยะเวลาอาจไม่ได้มากขึ้น ทุกหน่วยงานต้องคิดวิธีการรับฟังความเห็น เช่น เปิดช่องทางรับฟังผ่านเว็บไซต์ หรือให้ประชาชนสามารถแจ้งโดยตรง ขั้นตอนเหล่านี้เป็นแนวทางที่เคยปฏิบัติมาแล้ว ทุกหน่วยงานต้องดำเนินการหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ไม่เช่นนั้นถือว่ามีความผิด แต่ไม่ถึงขั้นเข้าข่ายปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เป็นเพียงความบกพร่องทางวินัย

5 ธ.ค.จัดกิจกรรมได้เหมือนเดิม

นายวิษณุยังกล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบการกำหนดให้วันที่ 5 ธ.ค. เป็นวันสำคัญของชาติไทยว่า เริ่มต้นเรารู้ว่าเป็นวันชาติ เพราะฉะนั้นสถานเอกอัครราชทูตที่เคยจัดงานวันชาติก็จัดตามปกติ ส่วนประชาชนอาจมีกิจกรรมวันพ่อแห่งชาติเหมือนที่เคยจัด ขณะเดียวกันเป็นวันคล้ายวันพระราช สมภพของในหลวงรัชกาลที่ 9 อาจมีการจัดกิจกรรมแสดงความรำลึกถึงพระองค์ท่าน เมื่อถามว่า รัฐบาลจะประชุมเรื่องนี้อีกหรือไม่ นายวิษณุตอบว่า ไม่ถึงขนาดมีอะไรเป็นพระราชพิธี เพราะวันสำคัญของแผ่นดินมีหลายวันใน 1 ปี บางวันเป็นวันหยุด บางวันไม่เป็นวันหยุด ขอชี้แจงว่าในวันที่ 5 ธ.ค. สมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นวันสำคัญ รัฐบาลได้รับสนองใส่เกล้าฯ มีมติ ครม.อนุมัติให้เป็นวันหยุด ทั้งนี้กิจกรรมใดๆที่เคยจัดก็ให้จัดได้ตามปกติเหมือนเดิม

นายกฯเน้นให้ความสำคัญพีอาร์

เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยกล่าวว่า ขอชื่นชมคณะทำงานที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบสะท้อนการทำงานเชิงรุกหลายอย่าง เช่น การสรุปผลประชุมที่ทำให้เข้าใจง่ายขึ้น ได้เห็นความก้าวหน้า รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคชัดเจน สามารถทำให้ฝ่ายประชาสัมพันธ์นำไปชี้แจง ทำให้รู้สึกสบายใจว่าหลายอย่างดีขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตาม คนไม่ดีก็ยังมีอยู่ มีความพยายามที่จะวิพากษ์วิจารณ์และเปิดหน้าออกมาเรื่อยๆ บางเรื่องเราทำดีแต่เขากล่าวหาว่าไม่ดี ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคน โดยเฉพาะคณะทำงานและส่วนราชการ ต้องรู้จักทำความเข้าใจ โดยเฉพาะการขยายความเข้าใจไปสู่วงกว้าง แบบปากต่อปาก และเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดีย หลังพบประเด็นที่เกี่ยวโยงกับหน่วยงานของตนเอง อย่าปล่อยทิ้งไว้ โดยคิดว่าไม่สำคัญ เพราะสามารถสร้างกระแสตอบรับได้มากกว่าพูด เพราะคนพูดไม่ต้องรับผิดชอบ แต่รัฐบาลในฐานะผู้ปฏิบัติต้องรับผิดชอบทุกเรื่อง

ยังฟิตเต้นแอโรบิก-เตะตะกร้อ

ต่อมาเวลา 15.30 น. ที่สนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ยังคงออกกำลังกายประจำสัปดาห์ในทุกวันพุธ ร่วมกับข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ตำรวจประจำทำเนียบรัฐบาล เริ่มด้วยการวอร์มร่างกาย เต้นแอโรบิกเป็นเวลา 40 นาที จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ได้ร่วมเล่นตะกร้อวงกับคณะทำงาน และ พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ประมาณ 30 นาที ก่อนขึ้นไปยังตึกไทยคู่ฟ้า ท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าว

“ทักษิณ” แจ้งความหมิ่น-ตัดต่อภาพ

นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า กรณีที่มีการตัดต่อภาพนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ใส่แทนบุคคลอื่นในวันที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมนายไซซะนะ ในคดียาเสพติดที่สนามบินสุวรรณภูมิ และได้เผยแพร่ภาพนายทักษิณคู่กับนายไซซะนะในโซเชียลมีเดียเพื่อเป็นการใส่ร้ายด้วยความเท็จให้สาธารณชนเข้าใจผิดว่านายทักษิณมีความสนิทสนมกับนายไซซะนะ รวมทั้งยังใส่ร้าย ยุยงให้เกิดความเกลียดชังนายทักษิณ ซึ่งเป็นกระบวนการใส่ร้ายที่มีมาอย่างต่อเนื่อง เช่น กรณีระเบิดที่ราชประสงค์ หรือกรณีระเบิดที่ภาคใต้ ซึ่งปรากฏแล้วว่าเป็นการใช้ความเท็จใส่ร้ายป้ายสีนายทักษิณอย่างไร้คุณธรรม ที่ผ่านมานายทักษิณก็พยายามอดทน อดกลั้นและให้อภัยมาโดยตลอด แต่ขบวนการทำลายก็ไม่ได้หยุดหย่อน ในครั้งนี้นายทักษิณจึงได้มอบหมายให้ทนายความไปแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับผู้บิดเบือนตัดต่อภาพ และโพสต์ข้อความใส่ร้ายทำให้เกิดความเสียหาย รวมทั้งดำเนินคดีกับผู้ที่แชร์ภาพต่อ ซึ่งถือเป็นความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

พท.จี้ “บิ๊กตู่” ทบทวนผลงานตัวเอง

นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯระบุว่า อย่าไปฟังคนไม่ดีที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลนั้น วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์บริหารประเทศจนทำให้เงินคงคลังเหลือเพียง 7 หมื่นกว่าล้านบาท เพราะประเทศส่งออกได้น้อยต่างชาติไม่คบค้าสมาคม เนื่องจากรังเกียจรัฐประหาร อย่าบอกว่านักการเมืองไม่ดี อย่าบอกว่าคนติเตียนรัฐบาลคือคนไม่ดี รัฐบาลก็ต้องถูกวิจารณ์ได้เพราะการทำงานมีผลกระทบกับปากท้องของประชาชน คนที่ทำให้สังคมโลกไม่คบค้าสมาคมไม่ใช่นักการเมืองแน่นอน อย่าบอกว่าตัวเองดี ผลงานเป็นการพิสูจน์อยู่แล้ว นอกจากนี้ที่บอกว่าเข้ามาปราบคอร์รัปชัน แล้ววันนี้เป็นอย่างไรมีเรื่องเกิดขึ้นในปี 59 อยู่ในยุคใครกันแน่ ตอนนี้มีการโกงมากขึ้นเรื่อยๆ นักการเมืองไม่เคยพูดดูถูกนักข่าวหรือประชาชน ไม่เคยดุด่าชี้หน้าหรือโยนของใส่ใคร แต่ท่านทำดีเป็นแบบอย่างหรือยัง ขอให้ไตร่ตรองดูตัวเองก่อนว่าดีจริงหรือ ขอให้ใจเย็นๆค่อยคิดค่อยแก้ อย่าฟังแต่คนใกล้ชิด เพราะเมื่อรู้สึกตัวก็สายเสียแล้ว

“ปึ้ง” จี้รัดเข็มขัดตัดงบพยุง ศก.

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีต รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า รายจ่ายประจำของรัฐในแต่ละเดือนสูงมาก และงบลงทุนพัฒนาประเทศน้อยมาก จึงขอเสนอให้รัฐบาล คสช.รีบหาแนวทางรัดเข็มขัด ประหยัดค่าใช้จ่ายของภาครัฐและหารายได้เข้ารัฐโดยเร็ว เช่น ให้แม่น้ำ 5 สายรับเงินเดือนทางเดียว หาแนวทางการลดเบี้ยประชุมคณะกรรมาธิการฯ หรือคณะกรรมการ คณะทำงาน งดการเดินทางดูงานในต่างประเทศและปรับลดงบในการจัดสัมมนา ระงับโครงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ระงับการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ปรับลดอัตรากำลังที่เพิ่มขึ้นทุกปี การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลควรให้เฉพาะการใช้บริการของโรงพยาบาลรัฐ ส่วนด้านการเพิ่มรายได้เข้ารัฐนั้นควรจัดเก็บภาษีเงินได้ ภาษีการค้า และภาษีมูลค่าเพิ่มให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยและมีประสิทธิภาพ

“มาร์ค” จี้ทบทวนโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมนายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง ร่วมแถลงข่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช.จะเร่งหาข้อยุติการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ภายใน 2 สัปดาห์ว่า พรรคสนับสนุนให้หาข้อยุติภาพรวมเสนอสูตรให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ อ.เทพา จ.สงขลา ใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ส่วนที่ จ.กระบี่ ให้ใช้ปาล์มน้ำมันช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ผลักดันใช้พลังงานหมุนเวียนโซลาร์เซลล์ พลังงานลมอนาคต ยืนยันพรรคไม่ได้คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในภาคใต้ แต่โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเหลวมีงบประมาณลงทุนต่ำกว่าถ่านหิน ควรนำเงินที่ประหยัดได้มาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานรองรับการรับซื้อพลังงานหมุนเวียน การไม่ใช้ถ่านหินสอดคล้องกับรัฐบาลที่ประกาศต่อชาวโลกว่าจะลดผลิตคาร์บอน แก้ปัญหาความผันผวนของภูมิอากาศ เป็นข้อเสนอที่มีแต่ได้กับได้ คุ้มค่ากว่า ไม่มีหน่วยงานใดเสียประโยชน์ อยากให้นายกฯมีข้อยุติในภาพรวม หากทำตามข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์จะสอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูป มั่นใจว่าภาคประชาชนจะเห็นว่าข้อเสนอนี้เป็นทางเลือกที่ดีกว่าถ่านหิน เมื่อมีทางเลือกต้องพร้อมเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่า

“กรณ์” แนะแอลเอ็นจีถูกกว่าครึ่ง

นายกรณ์กล่าวว่า เห็นใจฝ่ายราชการที่กำหนดนโยบาย แต่หากเปรียบเทียบความเหมาะสมระหว่างถ่านหินกับก๊าซแอลเอ็นจี พบว่าก๊าซแอลเอ็นจีมีผลต่อค่าไฟเกือบจะเท่ากับไฟฟ้าที่ผลิตด้วยถ่านหิน จะทำให้การสร้างโรงไฟฟ้าในภาคใต้ได้เร็วขึ้น ใช้เวลาก่อสร้างเพียง 48 เดือน งบลงทุนเพียง 736 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่างจากโรงไฟฟ้าถ่านหินใช้เวลาสร้าง 80 เดือน ใช้งบฯ 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ระยะเวลาสร้างต่างกันกว่าครึ่ง หากรัฐบาลยืนยันเดินหน้าตามเดิมต่อต้องใช้เวลาอีกนานมาก ต้องผ่านการอนุมัติผลศึกษาทั้ง อีไอเอ อีเอชไอเอ สุ่มเสี่ยงไม่ได้รับอนุมัติ แต่ถ้าสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเหลวศึกษาแค่อีไอเอ ไม่ต้องมีผลศึกษา อีเอชไอเอ กังวลว่าหากรัฐบาลเดินหน้าแผนนี้ต่อไป ชาวใต้จะไม่ได้โรงไฟฟ้า มีผลต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจทั้งภาคใต้และประเทศไทย

“กรณ์” ไม่ตกใจเงินคงคลังน้อย

นายกรณ์ยังกล่าวถึงเสียงวิจารณ์รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ถังแตกว่า รัฐบาลได้ชี้แจงแล้วว่าไม่ส่งผลต่อความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ แต่เป็นเรื่องการบริหารเงินสด บางช่วงที่เบิกจ่ายมากก็ทำให้เงินสดที่เก็บในลิ้นชักน้อยลง เมื่อมีรายได้เข้ามาหรือสามารถกู้ยืมเพิ่มเติมได้ก็จะทำให้เงินคงคลังกลับมาอยู่ที่สี่แสนกว่าล้านเหมือนเดิม จึงไม่คิดว่าจะเป็นปัญหา แต่ที่ตนติดตามคือการเบิกจ่ายงบประมาณในปีนี้ที่ขาดดุลค่อนข้างมาก และมีงบประมาณกลางปีด้วย จึงต้องจับตาดูว่าการใช้เม็ดเงินนี้ส่งผลต่อประเทศระยะยาวและทำอย่างระมัดระวังหรือไม่ เชื่อว่านายกรัฐมนตรีก็คงตระหนักเรื่องนี้อยู่แล้ว

หน้าเดิมคัดศาล ปค.ผู้ทรงคุณวุฒิ

ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาเสนอรายชื่อบุคคลที่เห็นสมควรเป็นกรรมการตุลาการ ศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มี พล.อ.อู้ด เบื้องบน สมาชิก สนช.เป็นประธาน นัดประชุมรับทราบรายชื่อผู้สมัครเข้ารับการพิจารณาเสนอรายชื่อเป็นกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิที่ว่างลง จำนวน 2 คน แทนนายอุดม รัฐอมฤต และนายวีรวิทย์ วิวัฒนวานิช ที่พ้นจากตำแหน่งเพราะครบวาระ มียอดผู้สมัคร 8 คน ได้แก่ นายอุดม รัฐอมฤต และนายวีรวิทย์ วิวัฒนวานิช พล.ท.ดิเรกพล วัฒนะโชติ อดีตตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ นายวิรัช พิมพะนิตย์ อดีต ส.ว.กาฬสินธุ์ นายณัฐเมศร์ เรืองพิชัยพร อดีตกรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ พ.อ.(พิเศษ) ศรีสินทร์ วรรณบุตร นายทหารปฏิบัติการสังกัดกองบัญชาการกองทัพไทย นายอาณัฐชัย รัตตกุล อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต นายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ นักวิชาการอิสระและสื่อมวลชนอิสระ โดยที่ประชุมจะตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมตามกระบวนการ ให้ผู้สมัครได้แสดงวิสัยทัศน์วันที่ 27 ก.พ. ก่อนคณะ กมธ.จะลงมติเลือกผู้สมควรเป็นกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิให้เหลือ 4 คน เสนอต่อที่ประชุม สนช.คัดเลือกเหลือ 2 คนต่อไป

กสม.เล็งให้ “ดีเอสไอ” รับคดี “บิลลี่”

ที่สำนักคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) คณะอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและการเมืองที่มีนางอังคณา นีละไพจิตร กสม.เป็นประธาน ได้ประชุมพิจารณากรณี น.ส.พิณนภา พฤกษาพรรณ (มึนอ) ภรรยาของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่นักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชน แกนนำชาวบ้านกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ได้ร้องเรียนว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไม่รับคดีนายบิลลี่หายตัวไปเมื่อปี 57 เป็นคดีพิเศษ โดยได้มีการเชิญภรรยานายบิลลี่ ตัวแทนดีเอสไอ ผู้แทนกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเข้าหารือ นางอังคณา กล่าวว่า อนุฯเห็นว่า ดีเอสไอมีอำนาจมากพอสมควรที่จะสืบสวนสอบสวนได้มากกว่านี้ หากดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษจะมีช่องทางนำตัวผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ จึงจะมีการทำหนังสือถึงดีเอสไอสอบถามว่าจะมีแนวทางที่จะทำคดีนี้อย่างไร

จี้ผู้ตรวจฯสอบเลิกสัญญาเมล์เอ็นจีวี

ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายคณิสสร์ ศรีวัชระประภา ตัวแทนจากบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายธาวิน อินทร์จำนง รองเลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) นายคณิสสร์ กล่าวว่า ปัจจุบันส่งมอบรถเมล์เอ็นจีวีให้ ขสมก.ไปแล้ว 390 คัน นำไปจดทะเบียนแล้ว 274 คัน ถือว่าอยู่ในการครอบครองของ ขสมก.แล้ว ส่วนอีก 99 คัน ได้ส่งหนังสือให้กรมศุลกากรให้ดำเนินการเอารถออกมาให้เราส่งมอบรถให้ได้ตามสัญญา แต่ยังไม่สามารถส่งมอบได้ถือเป็นเหตุสุดวิสัย บริษัทไม่สามารถควบคุมได้ อยากร้องขอให้ ขสมก.ขยายสัญญาให้กับบริษัท ให้หน่วยงานกลางอย่างผู้ตรวจการแผ่นดินเข้ามาร่วมตรวจสอบว่า การจะบอกเลิกสัญญาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

เร่งสางปม “ไอยูยู-ไอเคโอ”

พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม ได้กำชับว่า สหภาพยุโรป (อียู) ยังติดใจปัญหาประมงผิดกฎหมายและไร้การควบคุมอยู่ (ไอยูยู) จึงกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ ขณะนี้รัฐบาลเร่งออกกฎหมายให้เป็นไปตามแนวทางที่อียูเข้มงวด มีอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้องแล้วเสร็จไปแล้วกว่า 90 ฉบับ ส่วนความคืบหน้าในการแก้ปัญหาการบินพลเรือน ในวันที่ 30 มิ.ย. จะมีการตรวจภายใน 10 สายการบิน ซึ่งจะพยายามยืนยันกับองค์การการบินระหว่างประเทศ หรือไอเคโอให้เข้ามาตรวจเราได้ในภายเดือน ก.ย. และตั้งเป้าไว้ว่าเราน่าจะปลดธงแดงได้ในปีนี้

(ยังมีต่อ)

Comment
Related
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.