พลังประชาสังคม พลังสันติภาพ ประชารัฐนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคง

 02 เม.ย. 2560 04:20 น. | อ่าน 3813
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

      ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และดำรงอยู่มากว่าทศวรรษ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับจากการปะทุครั้งรุนแรงในปี 2547 เมื่อมองภาพรวมเหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะพบว่า มีเหตุการณ์เป็นสองช่วงใหญ่ๆ คือ ในระหว่างปี 2547-2550 หรือช่วงสี่ปีแรกนั้น เหตุการณ์จะรุนแรงมาก เฉลี่ยปีละ 1,926 ครั้ง และช่วงปี 2551-2558 ในช่วงส่วนช่วงที่สอง ระหว่างปี 2551-2558 มีเหตุการณ์เฉลี่ยปีละ 959 ครั้ง ในปี 2558 นี้ ได้เกิดเหตุการณ์ทั้งสิ้น 674 เหตุการณ์ ซึ่งนับได้ว่าเป็นปีที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบ ต่ำที่สุด เนื่องจากในปี 2556 ได้เกิดกระบวนการสำคัญ ที่มีผลต่อการเปลี่ยนผ่านกระบวนทางการเมืองในพื้นที่ อย่างมีนัยสำคัญยิ่ง
      กระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างคู่ขัดแย้งหลัก ในกรณีความรุนแรงทางการเมืองที่ชายแดนใต้ คือ ระหว่างรัฐบาลไทยและขบวนการบีอาร์เอ็น ได้เริ่มขึ้น ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ถือเป็นจุดหมายสำคัญของการเริ่มต้นกระบวนการสันติภาพอย่างเป็นทางการ และกลายเป็นวาทกรรมใหม่ ที่ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวของประชาชนในพื้นที่และสังคมไทยอย่างกว้างขวาง เกิดการอภิปรายถึงปัญหารากเหง้าและถกเถียงถึงทิศทาง ที่ควรเป็นไปในอนาคตของความขัดแย้งอย่างชนิดที่ไม่เคยเป็นมาก่อน การสื่อสารสาธารณะทุกช่องทาง เข้ามามีบทบาทสำคัญ ในฐานะเครื่องมือ ที่ผู้คนจะเรียนรู้ ติดตาม ตลอดจน วิพากษ์วิจารณ์ความเป็นไปของกระบวนการสันติภาพ ในขณะเดียวกัน ก็ก่อให้เกิดการรวมตัวภาคประชาสังคม ที่สนับสนุนสันติภาพ ไม่ว่าจะเป็นขบวนการประชาชนที่ต่อสู้ด้านการปกป้องทรัพยากรท้องถิ่น เครือข่ายสิทธิสตรีและเยาวชน นักวิชาการและสถาบันการศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชนและภาคส่วนอื่นๆ อีกมากมาย โดยมีการเคลื่อนไหว กระตุ้น ติดตาม งานด้านสันติภาพ ให้ดำเนินต่อไปได้ แม้จะล้มลุกคลุกคลาน หยุดชะงักบ้าง แต่บัดนี้กระบวนการสันติภาพ ได้ดำเนินมาเป็นเวลาครบ 4 ปี ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา
 

      ย้อนหลังกลับไปก่อนหน้านั้น ได้มีความตื่นตัวของภาคประชาสังคมมาเป็นระยะเวลานานพอสมควร โดยในส่วนของสื่อสาธารณะ ได้ก่อให้ความร่วมมือในการพัฒนาเวทีกลาง ที่มุ่งเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่ขัดแย้งหลักและผู้อำนวยความสะดวก ได้รายงานความคืบหน้าของการพูดคุยสันติภาพต่อสาธารณะ และเปิดเวทีให้ภาคประชาสังคมกลุ่มต่างๆ ได้ส่งเสียงนำเสนอข้อกังวล ข้อเรียกร้อง และข้อเสนอแนะ ต่อฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ ให้ดำเนินไปอย่างมั่นคง ยั่งยืน และเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนยิ่งมีความคึกคักยิ่งขึ้น นับจากวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 จากการจัดงานวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้ ที่จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2554 โดยมีเป้าประสงค์เพื่อเปลี่ยน และกำหนด "วาระการสื่อสารใหม่" ที่ปฏิเสธความรุนแรงทุกมิติและจากทุกฝ่าย และถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อให้เป็นวันที่กลับมาทบทวนเป้าหมายการทำงาน เติมความรู้ และกลายเป็นพื้นที่หล่อหลอม สร้างแรงบันดาลใจสู่คนรุ่นใหม่เสริมเข้ามาในกระบวนการเคลื่อนไหวสังคมชายแดนใต้อย่างสม่ำเสมอ ได้พัฒนาสู่ “เวทีสมัชชาสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี” ที่มีเจ้าภาพหลัก คือ สภาประชาสังคมชายแดนใต้ ที่มีสมาชิกเป็นกลุ่ม/องค์กรภาคประชาสังคม 28 กลุ่ม/องค์กร ร่วมกับคณะกรรมการสมัชชาสุขภาพ จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และเครือข่ายภาคประชาสังคมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

      การจัดงานเวทีสมัชชาสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งล่าสุด เป็นครั้งที่ 4 ได้ผ่านพ้นไป เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา นอกจากจะมีเวทีปาฐกถาพิเศษ เวทีวิชาการและเสวนาแล้ว วาระสำคัญได้มีการนำเสนอข้อเสนอแนะและยุทธศาสตร์สันติภาพชายแดนใต้ และประกาศเป็นปฏิญญาสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี 2017  ซึ่งมีที่มาจากกระบวนการระดมความคิดเห็นที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 จนถึงมีนาคม 2560 จัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์สันติภาพ ในการสร้างพื้นที่กลาง เพื่อผลักดันเชิงนโยบาย (Common Space and Advocacy) นำเสนอพื้นที่การเมืองที่เป็นพื้นที่กลางในการสร้างสันติภาพ ใน 5 มิติ ได้แก่ พื้นที่ปลอดภัย: ความปลอดภัยของสาธารณะและการเคารพความเป็นมนุษย์, พื้นที่เรียนรู้: ห้องเรียนสันติภาพจากมหาวิทยาลัยสู่ปฏิบัติการในชุมชน, พื้นที่สื่อสาร: เสริมพลังเรื่องราวจากคนใน, พื้นที่ผลิต: อธิปไตยทางอาหารและความยั่งยืนของทรัพยากร และพื้นที่สร้างสรรค์: เด็กและเยาวชนของอนาคต

      สาระสำคัญของข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์สันติภาพในเวทีสมัชชาสันติภาพชายแดนใต้ครั้งนี้ ได้ถูกสรุปรวบยอดไว้ว่า “การสร้างสันติภาพที่มีความหมายต่อชีวิตของผู้คนในพื้นที่ความขัดแย้งนั้น ขึ้นอยู่กับการสถาปนา รักษา และขยาย“พื้นที่การเมือง” ในหลากหลายมิติ โดยวางอยู่บน 5 ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ผ่านกระบวนการระดมความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง โดยอาจสรุปได้ว่า “พื้นที่การเมือง” ดังกล่าวนี้ เป็นพื้นที่ซึ่งต้อง “ปลอดภัย” ต่อทุกคนทุกฝ่าย โดยเฉพาะพลเรือน ที่ไม่ได้มีส่วนในการสู้รบของคู่ขัดแย้งในการใช้ชีวิตประจำวันและเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นพื้นที่ซึ่งเปิดกว้างสำหรับ “การเรียนรู้” เกี่ยวกับความขัดแย้งและแสวงหาแนวทางต่อสู้อย่างสันติวิธี หนุนเสริมให้คนในพื้นที่ได้ “สื่อสาร” เรื่องราวของตนเองอย่างเปิดกว้าง ในขณะเดียวกันเสริมอำนาจในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้พื้นที่แห่งนี้สามารถ “ผลิตอาหาร” อย่างเต็มศักยภาพ และเอื้ออำนวยให้เด็กและเยาวชน มีชีวิตที่จะ “สร้างสรรค์” อนาคตที่จะมีร่วมกันบนความแตกต่างหลากหลาย”
      ณ จุดที่ความขัดแย้งดำเนินมาเกินกว่าทศวรรษ สังคมไทยผ่านการเรียนรู้ผ่านความเจ็บปวดและความรุนแรงมานานพอ ที่จะเรียนรู้ว่าบทบาทของกระบวนการสันติภาพ ไม่เป็นเพียงแค่อำนาจหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าเป็นภาครัฐหรือคู่ขัดแย้ง ไม่ใช่อำนาจในการปราบปราม เปลี่ยนเขามาเป็นเรา หรือยืนยันสุดขั้วกับบริบททางประวัติศาสตร์แบบเดิมๆ  แต่ควรคำนึงบริบททางสังคมที่เป็นจริงในปัจจุบัน กอปรกับพลังที่สำคัญมองข้ามไม่ได้และนับวันจะเติบโตแข็งแกร่ง คือ พลังของภาคประชาสังคม อันจะเป็นพลังหลักสำคัญ ที่จะสร้างสรรค์สันติภาพที่แท้จริงให้เกิดขึ้น ณ ดินแดนปลายด้ามขวานแห่งนี้ได้ต่อไป

Comment
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.