ผู้หญิงและเด็กชายแดนใต้ บริบทสู่สันติภาพ

 03 มี.ค. 2560 17:14 น. | อ่าน 4729
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

      โรดแมปดับไฟใต้เวอร์ชั่นล่าสุดที่เน้นการพัฒนาในเชิงเศรษฐกิจ สร้างความมั่นคง บนฐานของความเข้าใจ ที่มีโครงการเด่นคือ โครงการเมืองต้นแบบ ถึงแม้ว่าจะทำให้สาเหตุส่วนหนึ่งของปัญหาคลี่คลายไปได้ แต่ภารกิจหลักหนึ่งที่ทิ้งไม่ได้เลย คือ การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดระยะเวลา 12 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้หญิงและเด็ก

ผู้หญิงกับสันติภาพ
      ในเชิงวัฒนธรรม ผู้หญิงในสังคมมุสลิมแต่เดิมจะถูกกดทับด้วยความเชื่อและทัศนคติของสังคมอยู่แล้ว เช่น การไปทำงานนอกบ้านคือการไปหาสามีใหม่ ให้ระวังการตกนรก ทั้งที่ในความเป็นจริงอิสลามให้ความสำคัญกับผู้หญิงอย่างยิ่ง และไม่มีศาสนาใดข่มเหงผู้หญิง แต่เหตุการณ์รุนแรงนั้นผู้หญิงกลายเป็นปลายทางของการรองรับปัญหา ทั้งการเป็นลูกหลง เป็นเป้าการสังหาร การต้องแบกรับภาระทุกอย่างหลังจากผู้ชาย สามี หรือคนในครอบครัวบาดเจ็บ เสียชีวิต หรือกลายเป็นผู้ต้องหาคดีความมั่นคง บรรดาผู้หญิงที่เป็น “เหยื่อ” “แม่ม่าย” “ผู้ได้รับผลกระทบฯ” ได้เปลี่ยนสถานะกลายเป็นคนทำงานด้านสังคม และเกิดการรวมตัวกันเป็น คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ นับจาก 28 เมษายน 2558 เป็นต้นมา ทำงานรณรงค์โดยเริ่มจากการเรียกร้องให้ยุติความรุนแรง ละเว้นเป้าอ่อน: เด็ก สตรี นักบวช ผู้สูงอายุ มาสู่การเรียกร้องให้ตระหนักถึงวงจรความรุนแรง การเรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการตายในเหตุการณ์สะเทือนขวัญ และการผลักดันให้เกิดพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยอย่างมีส่วนร่วม โดยหยิบหัวใจสำคัญของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศมาขับเคลื่อน กล่าวคือเริ่มมีเสียงเรียกร้องขอให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพอย่างเป็นลำดับในฐานะผู้มีส่วนได้เสีย ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ อันเป็นเสียงที่ชอบธรรม

      โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรีแห่งชาติ (กยส.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการขับเคลื่อน ได้เห็นชอบร่าง “มาตรการและแนวปฏิบัติด้านสตรีกับการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคง” โดยลดทอนจากการเป็น (ร่าง) “ยุทธศาสตร์ระดับชาติด้านสตรี สันติภาพ และความมั่นคง” เนื่องจากรัฐบาลไทยไม่สามารถยอมรับว่า สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น “ความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธ” (Arm conflict) ยอมรับเป็นเพียง “เหตุการณ์ความไม่สงบ” ทั้งนี้ “มาตรการและแนวปฏิบัติด้านสตรีกับการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคง” ดังกล่าวมีวิสัยทัศน์ให้ “สตรีได้รับการปกป้อง คุ้มครองสิทธิ ได้รับความเป็นธรรมและเพิ่มการมีส่วนร่วมของสตรีในงานด้านสันติภาพและความมั่นคง” โดยมีเป้าหมายหลัก 5 ข้อ คือ
(1) สตรีมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพในทุกขั้นตอนและทุกระดับ
(2) สตรีในพื้นที่สถานการณ์ความขัดแย้งได้รับการปกป้องและคุ้มครองสิทธิ
(3) ภาคประชาสังคม ผู้นำศาสนา ประชาชน ผู้นำในพื้นที่และสื่อมวลชนมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพและความมั่นคง
(4) มีกลไกส่งเสริมให้สตรีมีส่วนร่วมในการจัดการความขัดแย้งและกระบวนการสร้างสันติภาพ
(5) มีฐานข้อมูลกลางด้านสตรีกับการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงที่เป็นระบบ ทันสมัย เข้าถึงง่าย

เด็กกำพร้าจากไฟใต้
      ผลกระทบอันใหญ่หลวงที่น่าห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง ได้แก่ ปัญหาเด็กกำพร้าจากสถานการณ์ความรุนแรงจังหวัดชายแดนใต้ ตามข้อมูลของศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนใต้ (ศวชต.) ที่มีการจัดเก็บและบันทึกเหตุการณ์และผู้ประสบภัย (ผู้ได้รับผลกระทบฯ) บันทึกการเยียวยา รวมทั้งการบันทึกเอกสาร ‘การรับรองสามฝ่าย’ จากฝ่ายปกครอง ทหาร และตำรวจ พบว่า ‘เด็กกำพร้าจากไฟใต้’ มีอยู่ทั่วประเทศไทย เมื่อจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงมากขึ้นสัมพันธ์ตรงกับจำนวนเด็กกำพร้าเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ตั้งแต่ 4 มกราคม 2547 - 30 กันยายน 2558 มีผู้ประสบเหตุเสียชีวิตจำนวน 6,003 คน ทำให้เกิด ‘ลูกกำพร้า’ จากพ่อแม่เสียชีวิตในเหตุความไม่สงบเป็นจำนวนทั้งสิ้น 9,806 คน โดยมีจำนวนหนาแน่นอยู่ที่สามจังหวัดมากที่สุด: ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

      นอกจากนี้ในทางการศึกษา พบเด็กกำพร้าสองกลุ่มใหญ่ คือ เด็กกำพร้าที่ได้รับการรับรองสามฝ่าย และไม่ได้ ‘การรับรองสามฝ่าย’ ทั้งนี้ เด็กกำพร้าจากครอบครัวฝ่ายตรงข้ามรัฐมักไม่ได้รับการช่วยเหลือใด ๆ เนื่องจากไม่มีข้อมูลในระบบการเยียวยาภาครัฐ นอกจากนี้ การขาดความชัดเจนในมิติการคุ้มครองสิทธิเด็กและสตรี นำมาซึ่งเหตุการณ์ผลกระทบจากการดำเนินการทำงานกวาดล้าง ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ที่ทำให้เด็กหญิงเล็กๆ สองคน อายุ 2 ขวบ และ 3 ขวบ ต้องเข้าไปอยู่ในห้องขัง 3 ชั่วโมง กับแม่และยาย ขณะที่พ่อของเด็กมีโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือกรณีการตรวจดีเอ็นเอเด็กหญิงอายุอายุ 1 ขวบ ที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เพื่อตรวจหาพ่อที่กำลังหลบหนีการจับกุมตัวอยู่ในพื้นที่
      การเยียวยาเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการความขัดแย้งในอนาคต ลดการขยายความขัดแย้งและความรุนแรงเพิ่มมากกว่าเงื่อนไขในอดีต ซึ่งภาครัฐผ่านการเรียนรู้และกำลังพยายามก้ามข้ามเงื่อนไขทุกมิติให้ได้ มุ่งสู่ความชัดเจนในเชิงนโยบายต่อไป รวมถึงการทำให้เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญนี้ร่วมกันด้วย เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดกลายเป็นเชื้อปะทุความรุนแรงในอนาคต

ที่มาข้อมูล :
คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ผลักดัน ‘พื้นที่กลางผู้หญิงสร้างสันติภาพ’
http://prachatai.com/journal/2015/12/62927
กยส.เห็นชอบแผนผู้หญิงกับสันติภาพ ผู้หญิงชายแดนใต้ชี้ยาเสพติดทำให้ครัวเรือนขาดความมั่นคง
http://www.fatonionline.com/4478​
สถานการณ์เด็กกำพร้าจะพลิกความรุนแรงชายแดนใต้?
http://www.deepsouthwatch.org/node/8414​

 

Comment
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.