โรดแมปดับไฟใต้ : ตกผลึกที่ “มั่นคง พัฒนา บนฐานของความเข้าใจ”

 23 ก.พ. 2560 17:28 น. | อ่าน 3785
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

      ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ดำรงมายืดเยื้อยาวนาน การใช้กำลังทหารดูแลในพื้นที่ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ได้ทำให้สาเหตุของปัญหาถูกแก้ไขไปได้ จากการน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” จึงเป็นที่มาของยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหา ซึ่งตกผลึกอยู่ที่การมุ่งสู่การพัฒนาและการสร้างความมั่นคงบนฐานของการสร้างความเข้าใจร่วมกัน หรือยุทธศาสตร์ 2+1 ที่เป็นหัวใจสำคัญของโรดแมปดับไฟใต้ปี 2560 ที่มุ่งใช้การบูรณาการกลไกการบริหารจัดการให้มีเอกภาพ และเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน
      เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องเอกภาพในการบริหารงาน จึงเกิดแนวคิด ครม.ส่วนหน้า ขึ้นมาและออกมาเป็นรูปธรรมในรูปแบบของดรีมทีม ในนาม “คณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.)” ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลมี 13 คน มี พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นหัวหน้าคณะ และมีนายภาณุ อุทัยรัตน์ อดีตเลขาธิการ ศอ.บต. เป็นเลขาธิการ ครม. ส่วนหน้า เริ่มปฏิบัติงานครั้งแรกในวันที่ 4 ต.ค. 2559 มีภารกิจทำหน้าที่ประสานงานระหว่างหน่วยปฏิบัติในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสื่อสารโดยตรงกับนายกรัฐมนตรี เพื่อลดขั้นตอนการปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาที่ล่าช้า โดยรับผิดชอบเนื้อหาการทำงาน 7 กลุ่มงาน ได้แก่ 1.การรักษาความปลอดภัยชีวิตและทรัพย์สิน 2.งานอำนวยความยุติธรรมและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ 3.งานสร้างความเข้าใจทั้งในและต่างประเทศ 4.งานการศึกษา ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม 5.งานพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่และคุณภาพชีวิตของประชาชน 6.งานเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐและการขับเคลื่อนนโยบาย และ 7.งานแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี

มั่นคงด้วยเข้มแข็ง-แข็งแรง-เข้าใจ”
      
ตลอดเวลาหลายเดือนของการเริ่มต้นปฏิบัติงาน คณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ได้ร่วมกันประชุมหารือกับส่วนราชการต่างๆ รวมถึงลงพื้นที่ดูความพร้อมระดับจังหวัด กระทั่งตกผลึกได้กรอบแผนงานครอบคลุม 7 กลุ่มงานภารกิจเพื่อแก้ไขปัญหาชายแดนใต้  มีการกำหนดกรอบเวลาการทำงาน และกำหนดตัวชี้วัดในแต่ละช่วงระยะเวลา
      ช่วงระยะเวลาแรกของโรดแมป จึงเทความสำคัญให้กับการสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ เตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนแผนงาน ภายใต้หลักการทำงาน ที่เรียกว่า 3 ข. อันประกอบด้วย
1. แข็งแรง โดยมุ่งเน้นสร้างความแข็งแรง ในระดับปัจเจกบุคคล สร้างการรับรู้ ให้การศึกษาทั้งด้านงานอาชีพและสุขภาพกับประชาชนในพื้นที่
2. เข้มแข็ง มุ่งเน้นระดับชุมชน หมู่บ้านและครอบครัว คงความเป็นพหุสังคม การรวมตัวกันป้องกันและรักษาความปลอดภัยให้กับตนเอง รู้รักสามัคคีและการอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าอกเข้าใจ
3. เข้าใจ คือ การสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นกับประชาชนและสังคม ตลอดจนประชาคมโลก ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เป็นปัญหาภายในประเทศ และมิได้เกิดจากความแตกแยกทางศาสนา อย่างที่มีการบิดเบือนและกล่าวอ้าง

คลี่คลายด้วยการพัฒนา
      โครงการพัฒนาเด่นๆ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้ในโรดแมปฉบับนี้ มีความน่าสนใจในแง่การมุ่งใช้ “การพัฒนา” เพื่อคลี่คลายปัญหาต่างๆ ที่นำมาสู่ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ ได้แก่ โครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน (ปี 2560 – 2563) ซึ่งเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2559 ที่ประชุม คปต. มีมติเห็นชอบหลักการ กรอบแนวคิด และแนวทางการพัฒนาโครงการฯ ดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วย โครงการที่สอดคล้องกับแนวทางพัฒนาเมืองต้นแบบฯจำนวน 63 โครงการ กรอบวงเงิน 5,175.39 ล้านบาท
      กรอบแนวคิดของโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” คือการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ 3 พื้นที่ ให้เป็นเมืองต้นแบบ ที่มีการพัฒนาในลักษณะพื้นที่พัฒนาพิเศษเฉพาะ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุน สร้างงานและสร้างรายได้ ไปยังพื้นที่ใกล้เคียง และเพิ่มพื้นที่ปลอดภัยได้มากยิ่งขึ้น นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ 3 พื้นที่ ต่อไปนี้

Image credit: http://www.moe.go.th/websm/2016/dec/513.html  

      อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เมืองต้นแบบ "การพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน" (Agricultural Industry City) มุ่งเน้นการพัฒนาการค้าขาย วิสาหกิจชุมชน การเกษตร และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความมั่นคงทางพลังงาน ทั้งยังเป็นการสร้างชุมชน ที่ประกอบอาชีพสนับสนุนพื้นที่การพัฒนาหลัก ทั้งนี้ ในระยะนี้อาจจะมีการศึกษาความเป็นไปได้ ในการขยายท่าเรือปัตตานี เพื่อรองรับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก ตลอดจนการเดินเรือชายฝั่ง
      อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ให้เป็นเมืองต้นแบบ "การค้าชายแดนระหว่างประเทศ" (International Border City) มีการดำเนินการจัดโครงการปรับปรุงและยกระดับสถานีรถไฟสุไหงโกลก และส่งเสริมการจัดตั้งสถานีขนส่งสินค้า ดำเนินโครงการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงคมนาคมขนส่ง แยกเป็นการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำสุไหงโก-ลก ลันตาปันยัง ศึกษาและสำรวจออกแบบถนน ที่มีความปลอดภัยสูง จากอำเภอสุไหงโกลกถึงอำเภอหาดใหญ่ โดยใช้แนวเขตทางรถไฟ การก่อสร้างทางเลี่ยงเมือง สุไหงโกลก และการพัฒนาท่าเทียบเรือชุมชน จำนวน 3 จุด และนอกจากนี้ มีการจัดโครงการจัดตั้งเมืองการค้าปลอดภาษี
      อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ให้เป็นเมืองต้นแบบ "การพัฒนาที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน" (Sustainable Development City) จังหวัดยะลา มีด่านชายแดนเป็นประตูเชื่อมโยงเศรษฐกิจการค้า การท่องเที่ยว การลงทุน สามารถชมทัศนียภาพริมทางที่สวยงาม เป็นเส้นทางที่เชื่อมไปยังท่าเรือปีนัง ถือเป็นเส้นทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ จึงมีโครงการก่อสร้างปรับปรุงทางหลวงเพิ่มช่องทางจราจร รวม 5 ช่วง โครงการก่อสร้างอุโมงค์ลอดใต้ภูเขาบนทางหลวงหมายเลข 410 (ยะลา–เบตง) โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ที่พักริมทางจาก เบตงสู่ทะเลสาบ ป่าฮาลาบาลา และโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทะเลหมอกอัยเยอร์เวง

บูรณาการบนความเข้าใจ
      การเกิดขึ้นของ คปต. ซึ่งมีความเป็นเอกภาพและมีอำนาจในการประสานงานกับนายกรัฐมนตรีโดยตรง มีคุณูปการต่อการทำงานแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประการแรก คือ ทำเรื่องที่ยากและช้าให้เป็นเรื่องง่าย และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดย คปต.ทำหน้าที่ประสานและบูรณาการงานที่เกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ให้เกิดความรวดเร็วขึ้น มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องดำเนินการบางโครงที่สำคัญก่อน โดยคณะผู้แทนพิเศษฯ สามารถเกลี่ยงบประมาณจากกิจกรรมหนึ่งมายังอีกกิจกรรมหนึ่ง หรือนำโครงการในบางพื้นที่ที่สำคัญ และจำเป็นมาทำก่อนได้ และอีกประการ คือ ทำสิ่งที่ยังไม่มี หรือยังไม่เกิด ให้มี ให้เกิด โดยอาจขอรับการสนับสนุนพิเศษจากรัฐบาล ยกตัวอย่างเช่น กรณีการขยายถนน ซึ่งใช้งบประมาณปกติ ดำเนินการได้ไม่มาก หาก คปต.เห็นว่า มีความจำเป็น อาจขออนุมัติงบกลางจากรัฐบาลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการได้ อย่างไรก็ดี คปต. ยืนยันจะไม่ไปก้าวก่ายการทำงานของหน่วยงานราชการ ทำหน้าที่เป็นเพียงหน่วยสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินงาน ให้เกิดประสิทธิภาพ และดำเนินการเป็นรูปธรรมให้เร็วที่สุด โดยจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง โดยเฉพาะการขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคงฯ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ที่สำคัญของรัฐบาล คสช.
      การตกผลึกภายใต้แนวคิด “มั่นคง พัฒนา บนฐานของความเข้าใจ” ถือว่าเป็นนวัตกรรมทางด้านแนวความคิดที่เกิดขึ้นจากบทเรียนในการแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่ จชต. ในช่วงเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมา โดยใช้กลไกพิเศษ คือ “คณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.)” มาเป็นเครื่องมือในด้านการบริหารจัดการ เพื่อยกระดับความเป็นเอกภาพในการบริหารงาน ภายใต้หลักการทำงาน 3 ข. (เข้มแข็ง-แข็งแรง-เข้าใจ) และคลี่คลายสถานการณ์ความรุนแรงด้วยการพัฒนาตาม “โครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ซึ่งโครงการนี้เป็นไปตามแนวคิด “ประชารัฐ” คปต. จะเน้นบทบาทของการเป็นผู้สนับสนุนหน่วยงาน และภาคส่วนในพื้นที่เป็นหลัก แต่ทุกภาคส่วนมีวิสัยทัศน์ร่วม (Shared Vision) และเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ “พื้นที่ 3 จชต. เป็นพื้นที่ที่มีสันติสุข และมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”

Comment
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.