โอกาส และความเสี่ยงที่มาพร้อมกับการปลดล็อกพืชกระท่อม

 03 ธ.ค. 2564 13:52 น. | อ่าน 3214
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

          เรื่องราวของพืชกระท่อม เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากหลังการปลดล็อกพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด ส่งผลให้การบริโภคใบกระท่อม ซึ่งปกติแล้วก็แฝงอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คน ได้กลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย และกลายเป็นพืชสมุนไพรที่เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจตัวใหม่ทั้งในระดับประเทศ และในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อห่วงใยที่หลากหลายมุมมองเกี่ยวกับการปลดล็อกพืชกระท่อม

มาทำความรู้จักกับพืชกระท่อม พืชสมุนไพร ที่กลายมาเป็นกลจักรเล็ก ๆ ตัวหนึ่งในการขับเคลื่อนทั้งในมิติของสุขภาพ และมิติของเศรษฐกิจ น่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง

ลักษณะทางพฤษศาสตร์ของพืชกระท่อม

          พืชกระท่อม มีชื่อเรียกที่หลากหลาย เช่น ท่อม หรือ อีถ่าง เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ปานกลาง มีแก่นเป็นไม้เนื้อแข็ง สูง 10-15 เมตร อยู่ในตระกูล Mitragyna Speciosa ใบคล้ายใบกระดังงา มีชนิดก้านใบแดง และ ใบเขียว ดอกกลมโตขนาดเท่าผลพุทรา ใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียว เรียงตัวเป็นคู่ตรงข้าม แผ่นใบขนาดกว้างประมาณ 5-10 ซม. ยาวประมาณ 8-14 ซม. ดอกมีสีขาวอมเหลืองออกเป็นช่อตุ้มกลมขนาด 3-5 ซม.

          แหล่งที่พบพืชกระท่อม จะอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง เช่น ปทุมธานี แต่จะพบมากในป่าธรรมชาติบริเวณภาคใต้ เช่น สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ ตอนบนของประเทศมาเลเซีย

          สำหรับสารเสพติดที่พบในใบกระท่อม คือ ไมทราไจนีน (Mitragynine) เป็นสารจำพวกอัลคาลอยด์ ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง (CNS Depressant)

          ใบกระท่อมมีสรรพคุณทางยามากมายหลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น ในสมัยโบราณ กระท่อมเป็นพืชที่ใช้เป็นตัวยาในตำรับพวกประเภทยาแก้ท้องเสีย ในสูตรยาของหมอพื้นบ้าน หรือหมอแผนโบราณ

พืชกระท่อมภายใต้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (พ.ศ.2522)

          เนื่องจากมีสารเสพติดอยู่ในใบกระท่อม ดังนั้นในปี พ.ศ.2486 ใบกระท่อมจึงถูกควบคุมการใช้ โดยตราพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ.2486 ระบุห้ามปลูก และครอบครอง รวมทั้งห้ามจำหน่าย และเสพใบกระท่อม และต่อมาในปี พ.ศ.2522 กระท่อมถูกกำหนดให้เป็นพืชเสพติดให้โทษประเภท 5 ไว้ในมาตรา 7 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522

พืชกระท่อมหลังปลดล็อก ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2564

          ต่อมา เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 กระท่อมได้รับการปลดล็อกออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 และนำไปสู่ขั้นตอนการร่างพระราชบัญญัติพืชกระท่อม เพื่อควบคุมรายละเอียดการปลูก และการจำหน่าย ซึ่งสภาได้ผ่านร่างกฎหมายพระราชบัญญัติพืชกระท่อมไปเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2564 สำหรับสาระสำคัญของพระราชบัญญัติพืชกระท่อม ได้แก่ สามารถปลูก ใช้ได้เสรี ห้ามเด็กต่ำกว่า 18 ปี หญิงตั้งครรภ์ ส่วนการนำเข้า และส่งออกต้องขออนุญาต

          อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีข้อห่วงใยมากมายเกี่ยวกับการนำพืชกระท่อมไปใช้ โดยเฉพาะในมิติของสุขภาพ อาทิเช่น คณะกรรมาธิการฯ เห็นว่าการบริโภคใบกระท่อมมากเกินควร อาจจะเกิดอันตราย โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร จึงได้กำหนดมาตรการกำกับดูแลการขาย การโฆษณา และการบริโภคใบกระท่อมในบางประการ เพื่อคุ้มครองสุขภาพของผู้บริโภค และกลุ่มบุคคลดังกล่าว

โอกาสทางเศรษฐกิจของพืชกระท่อม

          ณ ปัจจุบัน ในต่างประเทศมีการบริโภคกระท่อมในรูปแบบที่หลากหลาย ตั้งแต่ทำเป็น ชา อาหารเสริม ไปจนถึงยาดม แต่ก็ยังมีประเทศที่ส่งออกไม่มาก นอกจากนั้นพืชกระท่อมไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นยาเสพติดในหลาย ๆ ประเทศ และที่สำคัญองค์การสหประชาชาติ (UN) ก็ไม่ได้ระบุชื่อของกระท่อมไว้ในอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ.1961 และ พิธีสารแก้ไขอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ.1972 อีกด้วย

          ดังนั้น เป็นโอกาสของประเทศไทยในการส่งออกกระท่อมไปสู่ตลาดระดับโลกในหลายประเทศในฐานะพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยาสูง ซึ่งในขณะนี้ การส่งออกพืชกระท่อมในระดับโลกยังมีอยู่อย่างจำกัด เพราะแม้กระท่อมจะเป็นพืชท้องถิ่นในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ แต่มีเพียงอินโดนีเซียเท่านั้นที่สามารถส่งออกได้อย่างถูกกฎหมาย ทำให้ตอนนี้การส่งออกกระท่อมร้อยละ 90–95 เป็นการส่งออกจากประเทศอินโดนีเซีย

          อย่างไรก็ตามทั่วโลกมีความต้องการกระท่อมอยู่ไม่น้อย แถมตลาดกระท่อมเป็นตลาดใหม่ ยังมีการแข่งขันน้อยมาก ดังนั้นจึงเป็นโอกาสอันดี ที่การปลดล็อกพืชกระท่อมของประเทศไทย จะสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจทั้งในระดับภูมิภาค ระดับประเทศ รวมไปถึงระดับโลก ที่เป็นรูปธรรม

พืชกระท่อมในบริบทของจังหวัดชายแดนภาคใต้

          สำหรับประเทศไทยกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ถือว่าเป็นแหล่งที่กระท่อมสามารถเติบโตได้ดี และเป็นที่รู้จักกันดีในนาม “ใบกระท่อม” และ “น้ำใบกระท่อม”

          “ใบกระท่อม” ชาวบ้านทั่วไปเอามาเคี้ยว เป็นสิ่งเสริมพลังในการทำงาน ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มานานแล้ว อย่างไรก็ตามก็ไม่ได้ทำกันอย่างเปิดเผยเท่าไหร่ เนื่องจากเป็นสิ่งผิดกฎหมาย อีกทั้งในศาสนาอิสลามถือว่าเป็นของมึนเมา ที่ควรละเว้นอยู่แล้วโดยวิถีมุสลิม

          สำหรับ “น้ำใบกระท่อม” เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเสพติดทั้งหลาย ยกตัวอย่างเช่น “สี่คูณร้อย” ที่ใช้น้ำกระท่อมผสมกับพวกยาแก้ไอ พวกยากันยุง สิ่งเหล่านี้เมื่อวัยรุ่นนำมาต้มดื่มกิน ก็จะมามั่วสุมตั้งวงร้องเพลงกัน ซึ่งค่อนข้างขัดกับบริบทของศาสนาอย่างชัดเจน ถ้าน้ำต้มใบกระท่อมแพร่หลายมากขึ้น จะทำให้ระบบครอบครัวมีปัญหาเสียหายไปด้วย

          ดังนั้น บรรดาผู้นำศาสนาจึงเป็นห่วงในเรื่องการปลดล็อก เนื่องจากห่วงว่า ลูกหลานจะไปติดโดยอัตโนมัติจากปัญหาในวิถีชีวิตของกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ ดังนั้น ผู้นำศาสนามีความคิดเห็นว่า หากจะให้เสรีในเรื่องนี้ ก็จำเป็นจะต้องมีมาตรการในการนำไปใช้ที่ชัดเจน และมีการบังคับใช้ที่จริงจัง โดยเฉพาะการวางมาตรการต่าง ๆ จำเป็นจะต้องให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมให้มาก

          อย่างไรก็ตาม มีประชาชนบางส่วนให้ความคิดเห็นว่า การบริโภคกระท่อมนั้น ขึ้นอยู่กับเจตนาในการบริโภค หากบริโภคเพื่อเหตุผลทางสุขภาพ เช่น ลดความดัน เป็นต้น ก็ถือว่าไม่ผิดหลักศาสนา เพราะว่าบริโภคเป็นยา แต่ถ้าบริโภคเพื่อความมึนเมา อันนี้ถือว่าผิดหลักศาสนา

          สิ่งที่น่าสนใจก็คือ หลังการปลดล็อก ส่งผลให้การซื้อขายใบกระท่อม มีความคึกคักขึ้นทันที ทั้งออนไลน์ และ ตลาดสด

          ซึ่งผู้ซื้อส่วนใหญ่มักจะซื้อไปรับประทานสด บางคนซื้อไปต้ม และนำไปประกอบอาหาร สนนราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 450-500 บาท โดยใบกระท่อมส่วนใหญ่ถูกส่งมาจากพื้นที่จังหวัดภาคใต้

          ในพื้นที่จังหวัดสงขลา มีการนำน้ำใบกระท่อมใส่ขวดแช่เย็น มาวางขายริมถนนสายเอเชีย มีผู้แวะมาซื้อจนหมดในวันแรก

สรุป

          พืชกระท่อมเป็นสมุนไพร ที่ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ยุคโบราณ มีสรรพคุณในทางสุขภาพมากมาย และถือว่าเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของจังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างไรก็ตามมีการนำมาใช้ในทางผิด ๆ ที่นอกเหนือจากการใช้ในเชิงสุขภาพ

          การปลดล็อกพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด จึงถือเป็นโอกาสอันดี ในการนำพืชกระท่อมมาต่อยอดในมิติด้านสุขภาพ และมิติทางเศรษฐกิจ ที่มีโอกาสเติบโตสูง ทั้งใน ระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และในระดับโลก ซึ่งไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า จะช่วยเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจ และรายได้ รวมไปถึงยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เหมาะต่อการปลูกพืชกระท่อม

          อย่างไรก็ตาม ในทุก ๆ โอกาส ย่อมนำมาซึ่งความเสี่ยง โดยเฉพาะการนำพืชกระท่อมไปใช้ในทางที่ไม่เกี่ยวกับสุขภาพ ดังนั้นมาตรการในการควบคุมการใช้จำเป็นจะต้องมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงจากการนำพืชกระท่อมไปใช้ในทางที่ผิด

Comment
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.