เศรษฐกิจชุมชนชายแดนใต้กับธุรกิจโคเนื้อวากิวครบวงจร

 22 ก.ค. 2564 11:57 น. | อ่าน 4903
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

          คนพื้นถิ่นจังหวัดชายแดนใต้นั้นเลี้ยงวัวมาหลายชั่วคน แต่ส่วนใหญ่เลี้ยงวัวพื้นบ้านซึ่งตัวเล็ก วัวตัวผู้น้ำหนักประมาณ 300 กิโลกรัม ถ้าสามารถเลี้ยงวัวสายพันธุ์ที่ใหญ่ขึ้น ก็จะขายได้ราคาแพงขึ้น ในปัจจุบันการเลี้ยงโคของจังหวัดชายแดนใต้เริ่มก้าวหน้าขึ้น พัฒนารูปแบบการเลี้ยง เปลี่ยนจากการเลี้ยงแบบปล่อยทุ่งมาเป็นแบบยืนโรง หรือเลี้ยงในโรงเรือน เพราะถ้าเป็นการเลี้ยงปล่อยทุ่งแบบเดิมจะไม่สามารถพัฒนาสายพันธุ์ได้ เพราะวัวจะผสมกันเองโดยไม่ได้คัดเลือกสายพันธุ์

          เนื้อวากิว (Wagyu) ของประเทศญี่ปุ่นได้รับการยอมรับว่าเป็นเนื้อที่มีรสชาติอร่อย เนื้อมีไขมันแทรกเหมือนลายหินอ่อน หวานนุ่ม ไม่เหนียว เมื่อรับประทานจะรู้สึกได้ถึงไขมันที่ละลายในปาก เป็นที่ต้องการของตลาดมีราคาสูง ฟาร์มโคเนื้อในจังหวัดยะลาแห่งหนึ่ง จึงทดลอง วิจัยและพัฒนาโคเนื้อวากิวภายในฟาร์ม เพื่อให้ได้คุณภาพสายพันธุ์วากิวแบบดั้งเดิมสร้างมูลค่าเพิ่มให้ตลาดเนื้อในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่บริโภคเนื้อ มีทางเลือกรับประทานเนื้อที่มีคุณภาพสูง ราคาไม่แพง พร้อมขยายโอกาสให้ฟาร์มโคเนื้อในจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส นำไปทำการตลาดต่อไปให้ครบวงจร

ยะลาวากิวฟาร์ม ฟาร์มวัวเนื้อที่ใหญ่ที่สุดในชายแดนใต้

          ยะลาวากิวฟาร์ม ตั้งอยู่กลางหุบเขาลำพะยา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ริเริ่มขึ้นโดย ดร.รุ่ง แก้วแดง มีเป้าหมายในการส่งเสริมกิจกรรมที่ให้คนไทยมุสลิม และไทยพุทธ ได้มาทำร่วมกัน เรียนรู้ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขเหมือนในอดีตและยกระดับการเลี้ยงโคของเกษตรกรในพื้นที่ โดยการพัฒนาสายพันธุ์ยกระดับเลือดของโคให้เป็นวากิวมากที่สุด จึงใช้วิธีผสมเทียมโดยการใช้น้ำเชื้อพ่อโควากิว 100% ผสมกับแม่พันธุ์ซึ่งมีอยู่หลายพันธุ์เพื่อการเปรียบเทียบกัน ได้แก่ สายพันธุ์ชาโลเล่ย์, บรามัน จนได้วัววากิว F1 (50%) F2 (75%) และ F3 (87.5%) ตามลำดับ และกำลังมุ่งสู่ F4 (93.75%) เพื่อให้ใกล้เคียงกับวากิวพันธุ์แท้ของญี่ปุ่นให้มากที่สุด

          กระบวนการพัฒนาสายพันธุ์โควากิว เริ่มจากการมีคอกคลอดสำหรับเลี้ยงแม่โค เมื่อลูกโคคลอดออกมา  ก็จะส่งไปที่คอกดูแลแม่โคลูกอ่อน จากแม่โคลูกอ่อนก็จะมาเป็นโคขุน ซึ่งต้องแยกกันระหว่างโคตัวเมียก็จะพัฒนาเป็นแม่พันธุ์ต่อไป ส่วนตัวผู้ก็เข้าโรงขุน การเลี้ยงวัวให้ครบวงจรต้องแยกคอกเพื่อการดูแลจะได้สะดวก ทั้งการให้อาหาร การดูแล บำรุง รักษาโรค นอกจากนี้ ทางยะลาวากิวฟาร์มภายใต้การดำเนินการโดยมูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดง ได้มีการทำวิจัยเรื่องอาหารโคร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นมาพัฒนาการผลิตอาหารสูตรสมุนไพรที่ต้นทุนต่ำแต่มีคุณภาพสูง มีส่วนผสมของ กากถั่วเหลือง สาคู หญ้าเนเปียร์ สับปะรด กล้วยหอม และสมุนไพรตงกัตอาลี

เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนโคเนื้อจังหวัดชายแดนใต้

          นอกจากการวิจัยในแง่การ ปศุสัตว์ ทางสถาบันการศึกษายังมีการทำวิจัยเกี่ยวกับการส่งเสริมเกษตรกร ให้มีการรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน นอกจากยะลาวากิวฟาร์มซึ่งเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านการเลี้ยง  โคเนื้อวากิว ยังมีเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงโค ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่รวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็ง ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงโคช่องเขต อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เรียกว่า สายบุรีวากิว, วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงโคเนื้อต้นน้ำ ตำบลเนินงาม อำเภอรามัน จังหวัดยะลา เป็นกลุ่มที่กำลังก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว มีสมาชิกกว่า 50 คน มีการดำเนินงานอย่างเข้มแข็ง และอีกหนึ่งกลุ่ม ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนเกษตรพอเพียงประชารัฐ  ตำบลสุวารี อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เป็นกลุ่มเลี้ยงวัวขุน

          กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้จะมารวมตัวกันเมื่อมีการจัดกิจกรรมร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนถ่ายทอดประสบการณ์ เล่าถึงความสำเร็จ ไปจนถึงปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ไม่สามารถมาพบปะกันได้ก็จะติดต่อกันในกลุ่มไลน์ มีปัญหาอะไรก็ใช้วิธีการถ่ายรูป และเล่าสู่ ถามตอบปัญหากัน อภิปรายกันผ่านสื่อโซเชี่ยล รวมทั้งมีนักวิชาการปศุสัตว์มาช่วยตอบคำถามด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเลี้ยงโคและการตลาด

ธุรกิจโคเนื้อครบวงจร

          ในปัจจุบันทางยะลาวากิวฟาร์มกำลังดำเนินการ ขออนุญาตกรมปศุสัตว์เพื่อตั้งโรงฆ่าสัตว์ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ครบวงจรจากต้นน้ำคือ ผู้ผลิตพ่อแม่พันธุ์วัว ผู้เลี้ยงโคขุน จนไปถึงการแปรรูป สามารถสร้างมูลค่าจากผลิตภัณฑ์เนื้อคุณภาพสูง เป็นเนื้อวากิวชายแดนใต้ สร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ทั้งคนเลี้ยงวัว คนปลูกหญ้า แรงงานในฟาร์มและโรงเชือด และคนในพื้นที่ได้กินเนื้อคุณภาพสูงปลอดสารพิษในราคาที่จับต้องได้ เพียงกิโลกรัมละ 499 บาท (เนื้อวากิว F2 ผ่านโรงเชือดมาตรฐานฮาลาล)

          จากระบบการเลี้ยงโคเนื้อแบบปล่อยทุ่งสู่การเลี้ยงโคเนื้อเชิงธุรกิจ ตลอดจนมีการพัฒนา และส่งเสริมอาชีพที่มั่นคงให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ตลาดโคเนื้อคึกคักขึ้นมากเลยทีเดียว โดยเฉพาะนักกินทุกระดับที่ไม่ต้องจ่ายกิโลกรัมละหมื่นจ่ายเพียงหลักร้อยก็สามารถรับประทานเนื้อวากิวคุณภาพระดับพรีเมี่ยมจากชายแดนใต้ หลายคนบอกเลยว่ากินเนื้อวากิวแล้วไม่อยากกินเนื้ออื่นอีกเลย หากท่านใดสนใจข้อมูลสอบถามรายละเอียด ได้ที่เพจเฟสบุค มูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดง

Comment
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.