สตรีมุสลิมกำลังสำคัญในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

 02 ก.ค. 2564 15:07 น. | อ่าน 3091
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

      จากประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เป็นที่รู้กันว่า สตรีมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการสร้างสรรค์สังคมมนุษย์ใน   ทุกมิติไม่ว่าจะเป็น สังคม การเมือง วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ทั้งในระดับโลก ระดับประเทศ หรือ แม้กระทั่งระดับท้องถิ่น ในอดีตที่ผ่านมา อาจจะยังมีปัญหาในเรื่องความไม่เท่าเทียมกันในสิทธิของสตรีเมื่อเทียบกับบุรุษ ซึ่งส่งผลให้สตรีไม่สามารถที่จะใช้ศักยภาพที่มีอยู่อย่างมหาศาลมาช่วยในการสร้างสรรค์สังคมได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบัน การตระหนักถึงความสำคัญของพลังแห่งสตรีได้นำมาซึ่ง การแก้ไขปัญหาในเรื่องความไม่เท่าเทียมที่สตรีได้รับ    ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้สตรีได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้กับสังคมมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในระดับโลก ระดับประเทศ และในระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สตรีมุสลิมเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาทั้งในระดับครอบครัว และ ในระดับชุมชน
แผนพัฒนา และส่งเสริมสตรี สิ่งจำเป็นที่ต้องมีในทุกสังคม

      ในโลกอิสลามก็เช่นเดียวกัน องค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation : OIC) เป็นองค์การระหว่างประเทศที่เป็นการรวมตัวของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ในโลกมุสลิมที่ใหญ่ที่สุด ตามหลักคำสอนของศาสนาอิสลามเกี่ยวกับความเป็นประชาชาติเดียวกัน (อุมมะฮ์) ก็มีความตระหนักถึงความจำเป็นในการยกระดับสิทธิของสตรี รวมไปถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของสตรีมุสลิมให้ดียิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความสุข และจากการตระหนักดังกล่าว OIC ได้จัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริมสตรี หรือ OPAAW ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมสิทธิสตรีมุสลิม
      ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจว่าจริง ๆ แล้วในศาสนาอิสลามถือว่าชาย และหญิงไม่มีความแตกต่างกัน สามี และภรรยามีส่วนร่วมในการสร้างเสริมซึ่งกันและกัน มีการกำหนดบทบาทของสตรีมุสลิมที่มีต่อครอบครัว บทบาทสตรีมุสลิมกับการพัฒนาสังคม และบทบาทสตรีมุสลิมต่อสังคมในภาพกว้าง ดังนั้นยุทธศาสตร์ และแผนงานต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้นในแต่ละสังคม แต่ละประเทศ ซึ่งกำหนดขึ้นโดยภาครัฐ จึงไม่ขัดแย้งกับหลักศาสนา
บทบาทหน้าที่ของสตรีมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

      สำหรับประเทศไทยในภาพรวมก็มีแผนพัฒนาสตรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ โดยแผนดังกล่าวมีเป้าประสงค์ในการดึงศักยภาพของสตรีมาช่วยในการสร้างสรรค์สังคม ซึ่งในส่วนของจังหวัดชายแดนภาคใต้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.    ได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นเพื่อส่งเสริมบทบาทสตรี เป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มสตรีมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความรุนแรง รวมไปถึงการเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
      ปัญหาความรุนแรง และความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลให้สตรีมุสลิมต้องปรับเปลี่ยนบทบาทของตนเองไปตามความจำเป็นสืบเนื่องจากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น จำเป็นจะต้องเข้ามามีบทบาทในการสร้างสรรค์สังคมมากขึ้นกว่าสังคมในสถานการณ์ปกติ ยกตัวอย่างเช่น การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ระหว่าง  พี่น้องมุสลิมจากสถานการณ์เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น และค่อย ๆ พัฒนาเป็นกระบวนการส่งเสริมที่มุ่งเน้นให้ผู้ประสบปัญหาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จากนั้นจึงพัฒนาไปสู่การรณรงค์ เพื่อขยายขอบเขตให้ผู้ประสบปัญหาที่ช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว เข้าไปช่วยเหลือผู้อื่นได้อีกต่อหนึ่ง


4 กลยุทธ์การพัฒนาสตรีมุสลิมให้มีบทบาทต่อการแก้ไขปัญหา และพัฒนาสังคม

      ในงานวิจัย “กลยุทธ์ในการส่งเสริมบทบาทสตรีมุสลิมต่อการพัฒนาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้”  ซึ่งดำเนินการโดย สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 12 สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและ   ความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้นำเสนอ 4 กลยุทธ์ ตามกรอบแนวคิดบทบาทการพัฒนาระดับปัจเจกบุคคล ระดับครอบครัว ระดับท้องถิ่นหรือชุมชน และระดับสังคมส่วนรวมหรือเครือข่าย ในการพัฒนาสตรีมุสลิม ดังนี้
กลยุทธ์ที่ 1 มุ่งเน้นการเสริมสร้างความรู้ เพื่อการดูแลตนเอง เสริมสร้างทักษะชีวิตเพื่อการดูแลตนเอง ส่งเสริมการใช้กลุ่มศึกษา (ฮาลาเกาะห์) เพื่อการพัฒนาตนเองและสังคม
กลยุทธ์ที่ 2 การสร้างเบ้าหลอมเพื่อพัฒนาสมาชิกของสังคมที่มีคุณภาพด้วยการ เสริมสร้างการเรียนรู้บทบาทและหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัวเสริมสร้างความมั่นคงใน การดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ
กลยุทธ์ที่ 3 การมีส่วนร่วม เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของสมาชิกในสังคม การพัฒนาสตรีมุสลิมในการบริหารจัดการชุมชน และการพัฒนาสตรีต้นแบบเพื่อการมีส่วนร่วม ในการพัฒนา
กลยุทธ์ที่ 4 เชื่อมร้อยเครือข่ายเพื่อสานพลังสตรีด้วยการเสริมสร้าง และพัฒนาเครือข่ายการทำงานของสตรีมุสลิม การสร้างการยอมรับทางสังคมของสตรีมุสลิม และการให้โอกาสสตรีในการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาสังคม
กิจกรรม และโครงการแก้ไขปัญหา จชต. ที่สตรีมุสลิมเข้าไปมีส่วนร่วม
      ภายใต้กลยุทธ์ในการส่งเสริมบทบาทสตรี ส่งผลให้เกิดกิจกรรม และโครงการต่าง ๆ ที่ดำเนินการโดยสตรีมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการดำเนินการดังกล่าว ส่วนใหญ่จะดำเนินการในรูปของกลุ่มสตรีมุสลิม เป็นเครือข่ายกลุ่มสตรี
      การดำเนินการดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น มีวัตถุประสงค์ และเป้าหมายที่หลากหลาย อาทิเช่น ในเรื่องการส่งเสริมการสร้างรายได้ การยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น การเยียวยา หรือแม้กระทั่งการส่งเสริมสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
      ยกตัวอย่างเช่น มูลนิธิสตรีผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการส่งเสริมอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้าให้กับสตรีที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ที่ต้องรับภาระในการเลี้ยงดูครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างรายได้ และการดูแลบุตร จากการที่หัวหน้าครอบครัวเสียชีวิต
      กิจกรรม “ชวนทำความดีเดือนรอมฎอน” ของเครือข่ายสตรีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับกลุ่มสตรีศูนย์สันติวิธี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า
      กิจกรรม “รณรงค์พัฒนาพื้นที่ปลอดภัย ผู้ก้าวหน้า สร้างสังคมประชาธิปไตย และเป็นธรรม ให้เกิดขึ้นในปี 2570” ที่จัดขึ้นโดย 23 องค์กรสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้
      กิจกรรม “เธอ ทอร์ค รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรี” ที่เครือข่ายประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
      กิจกรรมของกลุ่มพัฒนาบทบาทสตรีที่เกิดขึ้นจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ภายใต้การดูแลของกรมการพัฒนาชุมชุน โดยกลุ่มพัฒนาบทบาทสตรีนี้จะมีแหล่งเงินทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำ ในการสร้างโอกาสให้สตรีเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับการลงทุนเพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ หรือเสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจให้แก่สตรีและองค์กรของสตรี ส่งเสริมบทบาทและพัฒนาศักยภาพสตรี และเครือข่ายสตรี ในการเฝ้าระวังดูแลและแก้ไขปัญหาของสตรี การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของสตรี นำไปสู่การสร้างสวัสดิภาพ หรือสวัสดิการเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของสตรี และผู้ด้อยโอกาสอื่น ๆ ในสังคม และยังสนับสนุนการจัดกิจกรรมในการพัฒนาบทบาท สตรี การสร้างภาวะผู้นำ การพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านสังคมให้แก่สตรี และองค์กรของสตรี
การตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่า สตรีมีบทสำคัญยิ่งต่อการสร้างสรรค์มนุษยชาติ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าบุรุษ และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเพิ่มความเท่าเทียมให้กับสตรีในการมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคม จนนำไปสู่แผนการพัฒนาสตรี.     ในบริบทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในระดับโลก ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค/ท้องถิ่น และจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยิ่งเป็นการตอกย้ำข้อเท็จจริงที่ว่า สตรีมุสลิม คือ กำลังสำคัญในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ที่มา:
1) 2016 OIC Plan of Action for the Advancement of Woman (OPAAW), OIC, 2016
2) รายงานวิจัยกลยุทธ์ในการส่งเสริม บทบาทสตรีมุสลิมต่อการพัฒนาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้, สำนักงานส่งเสริม และสนับสนุนวิชาการ 12 สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์, 2559
3) https://deepsouthwatch.org/dsj/th/11094

Comment
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.