เยียวยาใจด้วยศิลปะ ดับไฟใต้ด้วยปลายพู่กัน

 02 ก.ค. 2564 14:15 น. | อ่าน 3311
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

      จากสภาวการณ์สังคมทั้งในอดีตและปัจจุบัน วิถีชีวิตมนุษย์ล้วนแล้วแต่มีโอกาสพบกับความเสี่ยง ความสูญเสีย ความสะเทือนใจที่ได้รับจากประสบการณ์ในชีวิตที่ยากจะคาดเดา ก่อให้เกิดความเครียด ความกดดันต่อจิตใจ การสร้างสรรค์งานศิลปะเป็นหนทางหนึ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มาโดยตลอด โดยมีบทบาทในการผ่อนคลายและปลดปล่อยออกไปในลักษณะผลงานสร้างสรรค์ และแสดงออกมาในเชิงศิลปะรูปแบบต่าง ๆ โดยผลการศึกษาพบว่า การแสดงออกเชิงสร้างสรรค์ในกระบวนการทางศิลปะ ช่วยปรับสมดุลทางอารมณ์ได้ดี ช่วยให้บุคคลรู้เท่าทันอารมณ์ต่าง ๆ สามารถควบคุมอารมณ์ได้ดียิ่งขึ้น เสริมสร้างสมาธิ ลดความตึงเครียด และเป็นอีกหนทางในการก้าวผ่านช่วงเวลาที่โหดร้ายในชีวิตได้ดีที่สุดอีกแนวทางหนึ่ง
      "สุไลมาน ยาโม" คงเหมือนกับเด็กหนุ่มในจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกหลาย ๆ คน ซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ แม้แผ่นดินบ้านเกิดต้องตกอยู่ท่ามกลางสมรภูมิแห่งความรุนแรง หากแต่พวกเขา ล้วนมีความฝันเป็นของตัวเอง สุไลมาน ยาโม รักการวาดภาพเป็นชีวิตจิตใจ เขาหลงใหลงานด้านนี้มาตั้งแต่เด็ก เมื่อมีโอกาสก็มักจะไขว่คว้า และแสวงหาความรู้ด้านศิลปะอย่างสม่ำเสมอ โดยมีความคิดว่า สักวันจะต้องเป็นนักวาดภาพให้ได้ แต่ทว่าผลพวงความรุนแรงในพื้นที่ ได้พรากผู้เป็นพ่อของเขาไป โชคดีที่เขายังมีศิลปะเป็นตัวเยียวยาจิตใจทำให้ทุกวันของสุไลมาน ยาโม เดินไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็ง
ไฟฝันที่ไม่เคยดับมอด

      สุไลมาน ยาโม เกิดและเติบโตที่บ้านคลองช้าง ตำบลนาเกตุ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ครอบครัวมีฐานะยากจน หลังจากเรียนจบโรงเรียนปอเนาะ เขาก็ต้องเริ่มต้นทำงานหาเลี้ยงครอบครัว โดยการไปทำงานรับจ้างเป็นคนส่งน้ำดื่ม และของอุปโภคตามบ้านเรือนทั่วไป ที่อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ถึงใจจะยังรักในงานศิลปะ แต่มองไม่เห็นโอกาสที่จะได้เข้าใกล้ความฝัน จนกระทั่งวันหนึ่ง เขาได้มีโอกาสไปเยือนแกลเลอรี่ของศิลปินในอำเภอเมืองยะลา จากการที่ต้องไปส่งน้ำที่นั่น เขาจึงเกิดแรงบันดาลใจอยากจะเรียนด้านศิลปะขึ้นมาอีกครั้ง เขาเจียดเงินรายได้จากการทำงานมาซื้อสีน้ำมันเพื่อหัดวาดเอง จนกระทั่งวันหนึ่ง มีโอกาสได้พบศิลปินที่เรียนจบทางด้านศิลปะจากศูนย์ศิลปาชีพบางไทรฯ ได้รับคำแนะนำว่า ศูนย์ศิลปาชีพบางไทรในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แหล่งเรียนรู้ที่ให้โอกาสกับลูกหลานเกษตรกรผู้ยากไร้ได้เข้าไปร่ำเรียนวิชาด้านศิลปาชีพทั้งหลาย โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ
      ในปี พ.ศ. 2550 สุไลมาน จึงตัดสินใจสมัครไปเรียนที่ศูนย์ศิลปาชีพบางไทรฯ และได้รับการตอบรับให้เข้าเรียน ซึ่งก่อนที่จะเดินทางไปตามความฝัน สุไลมาน ได้สร้างผลงานภาพสีน้ำมันโดยวาดรูปดอกกล้วยไม้ พร้อมกับนำไปเข้ากรอบแขวนไว้ที่บ้าน นับเป็นผลงานชิ้นแรกที่มอบให้ผู้เป็นพ่อ ซึ่งคอยสนับสนุนสุไลมานเรื่องการวาดภาพมาโดยตลอด และท่านก็ได้หอบเอาผลงานนี้ ขี่รถจักรยานยนต์ตระเวนพาไปอวดเพื่อนบ้านทั่วทั้งชุมชน ตัวสุไลมานเองไม่คิดว่า นั่นจะเป็นผลงานชิ้นแรกและชิ้นสุดท้ายที่ผู้เป็นพ่อของเขาจะได้ชื่นชม เพราะในช่วงที่สุไลมานไปร่ำเรียนย่างเข้าเดือนที่ 6 เขาก็ได้รับการแจ้งข่าวร้ายผ่านทางโทรศัพท์ว่า ในวันศุกร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2551 พ่อของเขาเสียชีวิตจากการถูกยิงขณะขี่มอเตอร์ไซค์ ส่วนแม่ของเขาที่ไปด้วยกันโดนกระสุนปืนเข้าที่หัวไหล่อาการสาหัส

      จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ความตั้งใจในการเรียนศิลปะของเขาลดลง จนดูเหมือนความฝันจะดับมอดไป เพราะขาดเสาหลักที่เป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญ แต่เหมือนมีบางสิ่งมาดลบันดาลให้ฉุกคิดขึ้นมาอีกครั้ง จากการได้เห็นภาพดอกกล้วยไม้ที่เคยวาดไว้ให้พ่อ เหมือนพ่อคุยกับเขาว่า ให้กลับไปเรียนต่อให้จบและสานต่อในสิ่งที่เคยฝันไว้ อ.สมาน คลั่งจตุรัส อาจารย์ประจำแผนกศิลปกรรม ศูนย์ศิลปาชีพบางไทรฯ ก็ได้โทรหาสุไลมานและบอกว่า “อย่าปล่อยโอกาสให้หลุดลอยไปนะลูก” เขาจึงมุ่งหน้ากลับสู่ศูนย์ศิลปาชีพบางไทรฯ อีกครั้ง ด้วยความมุ่งมั่นว่า จะเก็บเกี่ยวความรู้ในวิชาศิลปะให้มากที่สุด และจะนำเอาสิ่งเหล่านี้กลับมาทำงานเพื่อสังคมจังหวัดชายแดนใต้ในสักวัน
      เส้นทางชีวิตของสุไลมาน ยังคงเดินหน้าต่อไปช้า ๆ หลังจากเรียนจบจากศูนย์ศิลปาชีพบางไทรฯ แล้วเข้ารับราชการทหารเป็นเวลา 2 ปี เมื่อปลดประจำการ ก็ทำงานหาประสบการณ์ในการวาดรูปต่อ โดยไปฝึกงานวาดรูปที่อำเภอเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี และจากนั้นไม่นานก็ได้รับการชักชวนจากศิลปินรุ่นพี่ชาวยะลาให้ไปทำงานที่สตูดิโอศิลปะในอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ วาดรูปขายนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสร้างรายได้ต่อเดือนได้มากกว่า 1 แสนบาท แต่สุไลมานกลับรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า และหวนรำลึกถึงเป้าหมายที่อยากจะทำประโยชน์ให้กับบ้านเกิด จึงตัดสินใจเดินทางกลับมายังปัตตานี
สรรค์สร้างศิลปะเพื่อการเยียวยา

      จากความเชื่อว่า ศิลปะสามารถเยียวยาความรุนแรงได้ ภาพวาดทุก ๆ ชิ้นของ สุไลมาน ยาโม ที่รังสรรค์ขึ้นเพื่อถิ่นเกิด จึงเป็นผลงานที่สะท้อนมุมมองต่อธรรมชาติและอัตลักษณ์วิถีของสังคมในพื้นที่ปลายด้ามขวาน สื่อถึงการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขของชุมชน ทุกเชื้อชาติศาสนา สุไลมานเริ่มเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงในเวลาไม่นานที่กลับมาปักหลักสร้างงานศิลปะที่บ้านเกิด และทำให้เขาได้รับการสนับสนุนจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ไปศึกษาดูงานด้านศิลปะที่ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นประสบการณ์อันล้ำค่าที่เขานำมาใช้ในการจัดระบบความคิด พัฒนาตนเองให้ดีขึ้น และนำมาใช้เป็นเป้าหมายสำคัญคือ เพื่อพัฒนาบ้านเกิด สุไลมาน ยาโม ได้สานฝันของตัวเองในการเปิดสตูดิโอเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้งานศิลปะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในนาม “สตูดิโอ ยาโม” ได้สำเร็จ
      โดยทุกวันนี้ สุไลมาน ได้จัดสรรแบ่งปันรายได้ส่วนหนึ่งที่ได้จากการขายภาพไปบริจาคเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางศาสนา กิจกรรมเพื่อสังคม และสนับสนุนทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และตัวเขาเองยังตระเวนเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้กับเยาวชน ให้พวกเขาเหล่านั้นได้วาดภาพ ส่งต่อจินตนาการผ่านปลายพู่กัน และมีเป้าหมายในอนาคตที่อยากจะสร้างหอศิลป์ เพื่อเป็นเวทีให้เยาวชน ประชาชนทั่วไป รวมถึงศิลปินในพื้นที่ ได้จัดแสดงงานศิลป์ทุกรูปแบบ และนั่นคือ เรื่องราวของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ที่เยียวยาใจตนเองด้วยงานศิลปะ และตั้งใจใช้กระบวนการสร้างสรรค์งานศิลปะ เป็นหนทางหนึ่งในการกล่อมเกลาจิตใจเยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยมีความหวังสูงสุดในการดับไฟที่เคยคุโชนอยู่ที่ปลายด้ามขวานให้มอดดับไปด้วยปลายพู่กัน

Comment
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.