จานกาบหมากภาชนะรักษ์โลก วิถีชายแดนใต้

 25 ม.ค. 2564 15:01 น. | อ่าน 5866
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

          ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในสังคมปัจจุบันส่งผลต่อการดำรงชีวิตที่ต้องใช้ความเร่งรีบเพื่อให้ทันต่อเวลาและการแข่งขันอันหลีกเลี่ยงไม่ได้มักจะซื้ออาหารนอกบ้านมารับประทาน ผู้คนคุ้นเคยกับอาหารถุง อาหารใส่กล่องโฟม หรือกล่องพลาสติก  แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ตระหนักถึงอันตรายที่แฝงอยู่ในภาชนะบรรจุที่ไม่เหมาะสม อันตรายจากสารปนเปื้อนที่แยกตัวออกมาจากภาชนะออกมาผสมในอาหาร  หากได้รับเข้าสู่ร่างกายเป็นเวลานานอาจเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง และที่สำคัญ คือ ทำให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ขยะบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ไม่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ ร้อยละ 70 จะถูกนำไปกำจัดได้โดยวิธีการเผา ทำ ให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์  และสารพิษต่าง ๆ เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน ส่วนขยะบรรจุภัณฑ์อีก 30 เปอร์เซ็นต์นั้นก็จะปนเปื้อน อยู่ตามสภาพแวดล้อมธรรมชาติและมีอายุการย่อยสลายที่นานมาก เช่นบรรจุภัณฑ์โฟมใช้เวลาย่อยสลาย 500 – 1,000 ปี ส่วนบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้เวลาย่อยสลาย 100 – 450 ปีกลายเป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต

          โครงการวิจัยการออกแบบและพัฒนาแปรรูปผลิตภัณฑ์กาบหมาก มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมเกียรติ สุทธิยาพิวัฒน์ และคณะ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. ในปี พ.ศ. 2563 โดยมีจุดริเริ่มจากการได้ลงสำรวจชุมชนที่มีวัสดุธรรมชาติ พบว่า พื้นที่ ตำบลพร่อน  อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส มีต้นหมากอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากชาวบ้านจะเก็บผลหมากมาทำสีย้อมผ้า กาบหมากที่แต่เดิมไม่มีการใช้ประโยชน์ใดๆ นอกจากครั้งอดีตที่ใช้ในการห่อข้าวไปกินที่ไร่นา หรือใช้ในการละเล่น ก็กลายเป็นต้นทุนสำคัญในการเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนแห่งนี้ด้วย

พลังสตรี วิถีชาวพร่อน

          ที่บ้านวัดใหม่ ตำบลพร่อนนั้น ชุมชนมีความเข้มแข็งและรวมกลุ่มกันอยู่แล้ว ในนามกลุ่มแม่บ้านสายใยรักษ์ ทางโครงการวิจัยฯ จึงได้ส่งเสริมให้มีการผลิตจานกาบหมากและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ให้มีภาพลักษณ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ความเป็นไทย และมีคุณสมบัติย่อยสลายได้ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ลดภาวะโลกร้อน และยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถือว่าเป็นการยกระดับมาตรฐานงานออกแบบบรรจุภัณฑ์ซึ่งในปัจจุบัน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มพลังสตรีวิถีชาวพร่อน ซึ่งทำการบริหารจัดการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารจากกาบหมาก  มีสมาชิก31 คน ได้รับการสนับสนุนที่ทำการกลุ่มและเป็นสถานที่ผลิตที่วัดนภาราม (วัดใหม่) และดำเนินงานต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 ก่อให้เกิดการสร้างกระแสนิยมการใช้สินค้าไทย ที่มีความปลอดภัยต่อสุขภาพ และอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างชุมชนที่เข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน

          ผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์จากกาบหมาก ในแบรนด์ Chaw Pron  ผลิตโดยการนำกาบหมากแห้งที่ร่วงหลุดจากต้น ชาวบ้านเก็บมาจากในชุมชน นำมาตัดให้ได้ขนาด แช่น้ำให้อ่อนนิ่ม ขัดทำความสะอาด แล้วล้างน้ำสามรอบ สะเด็ดน้ำแล้วนำไปขึ้นรูปด้วยความร้อน 100-120 องศาเซลเซียส  ด้วยเครื่องอัดขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์อาหารจากกาบหมากระบบนิวเมติกส์ไฟฟ้า  โดยใช้ระบบความร้อนและควบคุมความร้อนที่พัฒนาขึ้น โดยโครงการวิจัยการออกแบบและพัฒนาแปรรูปผลิตภัณฑ์กาบหมาก มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อจานกาบหมากแห้งสนิท จะมีความแข็งแรง  ด้วยแม่พิมพ์บรรจุภัณฑ์ที่พัฒนาไว้หลายรูปแบบ ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย ทั้งบรรจุภัณฑ์ประเภทจานสี่เหลี่ยม จานกลม และบรรจุภัณฑ์ประเภทถ้วย  สามารถใส่อาหารประเภทของเหลวได้ไม่มีการรั่วซึม ใส่ได้ทั้งอาหารร้อน-เย็น และย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ

วิถีรักษ์โลกจากชุมชนชายแดนใต้

          จานกาบหมากซึ่งได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างมากในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยราชการที่มีการจัดประชุม จนไปถึงลูกค้าจากประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงอย่างมาเลเซียนิยมใช้ใส่อาหารในงานจัดเลี้ยง แม้ราคาจะแพงกว่า โฟม หรือ พลาสติก 7-8 เท่า แต่ก็เป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม รวมถึงลูกค้าที่ต้องการการใช้งานเพื่อสร้างภาพลักษณ์องค์กร และด้วยกำลังการผลิตที่ไม่มากนักเท่าที่วัตถุดิบจะมีตามฤดูกาล จึงยังผลิตได้ไม่พอกับความต้องการของตลาด  อย่างไรก็ตามนอกจากตำบลพร่อนแล้ว ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ยังมีต้นหมากอยู่ตามธรรมชาติเป็นจำนวนมาก จึงมีอีกหลายชุมชนที่ผลิตบรรจุภัณฑ์จากกาบหมาก เช่น Malee Ecoware โดย กลุ่มอาชีพจานกาบหมากจากชุมชนทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี  และกลุ่มเยาวชนบ้านนากอ ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เป็นต้น

Comment
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.