ฝ่าวิกฤติยางพาราชายแดนใต้ จากต้นน้ำรุกสู่ปลายน้ำ

 28 ก.ย. 2563 14:32 น. | อ่าน 5219
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

      ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกยางเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศอินโดนีเซีย และในวันนี้ยังเป็นประเทศที่ผลิตยางพารามากที่สุดในโลก ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่ให้ผลตอบแทนสูงเมื่อเทียบกับพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น ๆ จึงทำให้อุตสาหกรรมยางพาราเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญ และส่งผลต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบกับช่วงปี 2553 ราคายางพารามีราคาสูงขึ้นจึงเป็นสิ่งจูงใจที่ทำให้มีการขยายเนื้อที่การปลูกยางพารากันมากขึ้น ปัจจุบันจึงมีผลผลิตยางพาราออกมาจำนวนมาก จนเกินความต้องการของตลาด แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ของโลก ก็ไม่อาจต้านทานผลกระทบที่เกิดจากมาตรการทางการค้าของประเทศคู่ค้ารายใหญ่ได้ ทำให้หลายปีที่ผ่านมา เกษตรกรสวนยางพาราล้วนได้รับผลกระทบจากราคายางพาราตกต่ำถึงขั้นวิกฤติ
      ภาครัฐ ภาคเอกชนรวมไปถึงสถาบันการศึกษา จึงต้องร่วมมือกันในการแก้ไขวิกฤติยางพารา ลดการพึ่งพาการส่งออกยางพารา ด้วยการส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศให้มากขึ้น โดยการแปรรูปทำให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นกว่าน้ำยางหรือยางแผ่นทั่วไป และเป็นแนวทางส่งเสริมให้เกษตรกรทำได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เพราะการแปรรูปเป็นศาสตร์อีกศาสตร์หนึ่งที่กลุ่มเกษตรกรร่วมกันทำได้  โดยทำให้มีมาตรฐานได้รับการยอมรับจากผู้บริโ๓ค เพื่อให้มีความเป็นไปได้ทางธุรกิจ ซึ่งต้องอาศัยองค์ความรู้ในเรื่องของ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการบริหารธุรกิจ มาช่วยในการต่อยอดให้กับเกษตรกรในพื้นที่
สะพานเชื่อมวิจัยและนวัตกรรมยางพาราสู่การใช้ประโยชน์

      ในบริบทของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกษตรกรชาวสวนยางส่วนใหญ่ยังคงขายน้ำยางสด และแผ่นยางรมควันให้กับพ่อค้าในพื้นที่ ทำให้เกษตรกรรายย่อยต้องตกอยู่ในฐานะผู้ผลิตที่อยู่เพียงต้นน้ำ ไม่มีอำนาจการต่อรอง และต้องอยู่ภายใต้การอุดหนุนของภาครัฐมาโดยตลอด ในสถานการณ์ที่ยางพารามีราคาตกต่ำ ทางภาครัฐได้มีการช่วยเหลือเร่งด่วนกับเกษตรกร โดยประกันราคา แต่แนวทางที่จะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน และทำได้ในทันทีคือการศึกษาค้นคว้าหาแนวทางในการลดต้นทุนการผลิต การลดปริมาณของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิต ศึกษาหาวิธีการนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดความคุ้มค่าที่สุด การรวมกลุ่มทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนรู้ สร้างงานสร้างอาชีพ และความมั่นคงให้กับชุมชน โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานรัฐ และบุคลากรจากสถาบันการศึกษามาช่วยเป็นพี่เลี้ยงและเป็นที่ปรึกษาในการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เหมาะสม

      ภาควิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในฐานะสถาบันการศึกษาที่ผลิตบุคลากรทางสาขาเทคโนโลยียาง ได้เห็นความสำคัญในการเข้ามามีส่วนช่วยชุมชน กลุ่มเกษตรกร โดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ในการผลิตและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ยางรูปแบบใหม่ ๆ ไปร่วมพัฒนาต่อยอดให้กับกลุ่มเกษตรกร ดูความพร้อม เสริมสิ่งที่ขาด ให้คำปรึกษา และลงมือทำด้วยกัน เริ่มจากทำสิ่งง่าย ๆ ก่อน พัฒนา และติดตามความก้าวหน้าเป็นระยะ ๆ จนเกิดความสำเร็จ
วิสาหกิจชุมชนพัฒนาและแปรรูปน้ำยางตาชี จังหวัดยะลา

      กลุ่มเกษตรกรทำสวนยาง และผลิตภัณฑ์ยางตาชี ตำบลตาชี อ.ยะหา จ.ยะลา ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ ปี 2550 ต้องผ่านอุปสรรค และเผชิญปัญหามาโดยตลอดจึงทำให้กลุ่มมีความเข้มแข็ง และมุ่งมั่นที่จะยกระดับตนเองขึ้นเป็นผู้ผลิตสินค้าที่แปรรูปจากยางพาราให้ได้ จากกลุ่มเกษตรกรต่อยอดสู่ วิสาหกิจชุมชนพัฒนา และแปรรูปน้ำยางตาชี ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ประมาณ 170 คน ผลิตน้ำยางประมาณ 7,000 กิโลกรัมต่อวัน แปรรูปทำแผ่นยางรมควัน และนำเอาเศษยางมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ได้แก่ มะเฟืองซักผ้ามหัศจรรย์, พวงกุญแจ, แผ่นพื้นสนามฟุตบอล และ แผ่นยางนำทางคนพิการ ซึ่งทุกผลิตภัณฑ์ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.)

      ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเกษตรกรทำสวนยาง และผลิตภัณฑ์ยางตาชีเริ่มได้รับความสนใจจากภาคเอกชนเข้ามาจ้างผลิตสินค้า แผ่นยางพาราปูพื้นผิวต่างสัมผัสสำหรับผู้พิการทางสายตา (Braille Block) ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนนวัตกรรมไทยปี 2562 เป็นองค์ความรู้จากงานวิจัยของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เข้ามาส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตและแปรรูปตามมาตรฐานอุตสาหกรรม ทำให้สมาชิกของกลุ่มเริ่มมีความหวัง และมั่นใจที่จะพัฒนาสินค้าของตัวเองให้มีคุณภาพ

      นโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมมาตรฐานการผลิตสินค้า เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ยางที่มีนวัตกรรม ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล ถือเป็นวาระที่ประเทศไทยใช้กำหนดจุดยืนบนเวทีอาเซียน การต่อยอดแปรรูปผลผลิต และพัฒนาธุรกิจในรูปแบบของวิสาหกิจชุมชนจึงเป็นความหวังแห่งความยั่งยืนในอนาคต เกษตรกรจำเป็นต้องรวมกลุ่มเพื่อสร้างความเข้มแข็ง และไปให้ถึงปลายน้ำคือการเป็นผู้ประกอบการแปรรูปเพื่อฝ่าวิกฤติราคาผลผลิตตกต่ำไปให้ได้ และที่สำคัญ ไม่ว่าราคายางพาราจะถูกหรือแพง เกษตรกรคือหัวใจสำคัญในการผลิตยางที่มีคุณภาพ ตราบใดที่ผลิตผล และผลิตภัณฑ์ของเรามีคุณภาพ ย่อมเป็นที่ต้องการของตลาดโลกอย่างแน่นอน

Comment
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.