สตรี กับการมีส่วนร่วมในการเจรจาเพื่อสันติภาพ

 03 มี.ค. 2559 21:25 น. | อ่าน 5208
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

ที่มารูปภาพ: UN Photo/Eric Kanalsstein


    เป็นเวลามากกว่า 33 ปี ที่สหประชาชาติให้กับสำคัญในเรื่องการมีส่วนร่วมของสตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสันติสุข และสันติภาพ อย่างไรก็ตาม จากผลการสำรวจของสหประชาชาติ พบว่า สตรียังมีส่วนร่วมน้อยมากในกระบวนการดังกล่าว ระดับการมีส่วนร่วมที่น้อยมาก สวนทางกับความพยายามทั้งในระดับโลก และในระดับภูมิภาค ที่จะผลักดันให้สตรีเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสันติสุข และ สันติภาพ การที่สตรีมีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมน้อยมากนั้น ส่งผลให้เกิดผลเสียต่อการได้มาซึ่งสิทธิต่างๆ ของสตรีที่พึงได้ เนื่องจากประเด็นเหล่านี้มิได้ถูกหยิบยก หรือ มิได้ถูกยกให้เป็นประเด็นสำคัญในกระบวนการ


การสวนทางระหว่างความจริงที่ปรากฏ กับ ความพยายามที่ทุ่มเท

    กองทุนสหประชาชาติเพื่อการพัฒนาสตรี (United Nations Development Fund for Women) หรือรู้จักในชื่อ ยูนิเฟม (UNIFEM) ได้ศึกษา และทบทวน กระบวนการในการสร้างสันติภาพจำนวนทั้งสิ้น 31 กระบวนการ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2535 และพบว่าจำนวนสตรี ที่เข้าร่วมเป็นผู้แทนในกระบวนการดังกล่าวมีจำนวนที่ต่ำมาก และมีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่น้อยมากจนน่าตกใจ เมื่อเทียบกับความพยายามของประชาคมทั้งในระดับโลก และระดับภูมิภาพ ที่ต้องการให้สตรีเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าว นอกเหนือไปจากนั้นเมื่อถึงขั้นตอนในการนั่งเจรจาที่เป็นขั้นตอนสำคัญในการตัดสินใจประเด็นสำคัญของกระบวนการเจรจาเพื่อสันติภาพ สตรีที่ได้เข้าร่วมเป็นผู้แทนในกระบวนการดังกล่าวในช่วงต้นๆ ของกระบวนการ ก็มักจะไม่ได้เข้าร่วมในช่วงสำคัญของการเจรจาอีกด้วย จากการศึกษา และทบทวนข้างต้น พบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว ใน 100 เปอร์เซ็นต์ของผู้แทนที่เข้าร่วมในกระบวนการเจรจา จะเป็นบรุษ 96 เปอร์เซ็นต์ และสตรี เพียง 4 เปอร์เซ็นต์

สตรีทำบทบาทอะไรบ้างในกระบวนการสร้างสันติภาพ

    บทบาทของสตรีที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการเจรจาเพื่อสันติภาพ หรือ กระบวนการสร้างสันติภาพ มีด้วยกันหลายบทบาท อาทิเช่น
• เป็นตัวกลางในการเจรจา (Mediator)
• เป็นสมาชิกของทีมตัวกลางในการเจรจา
• เป็นผู้แทนทีมเจรจา (Negotiating Parties)
• เป็นตัวแทนของกลุ่มสตรีเพียงหารือในประเด็นที่เกี่ยวกับสตรี (Representing a women’s agenda)
• เป็นผู้แทนในการลงนาม (Signatories)
• เป็นพยาน (Witnesses)
• เป็นผู้แทนของกลุ่มประชาสังคมสตรีในการทำหน้าที่สังเกตการณ์ (Observer)
• เป็นจัดการประชุม หรือ กิจกรรมเกี่ยวกับสันติภาพ
• เป็นที่ปรึกษาในเรื่องเกี่ยวกับสิทธิสตรีให้กับทีมตัวกลางในการเจรจา หรือ ทีมอื่นๆ (Gender Advisor)
• เป็นสมาชิกของทีมด้านเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสตรี (Member of Technical Committees)


ความจำเป็นของกลุ่มสตรีที่ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการเพื่อสันติภาพ

    จากการตรวจสอบข้อตกลงสันติภาพจำนวน 585 ข้อตกลงที่เกิดขึ้นในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา (พ.ศ.2533 – พ.ศ.2552) พบว่า มีเพียง 201 ข้อตกลง หรือเพียง 34 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่มีการอ้างอิง และระบุใดๆ เกี่ยวกับสตรี หรือ สิทธิทางด้านเพศ ข้อตกลงที่เหลืออีก 66 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีพูดถึงเกี่ยวกับสตรี และสิทธิที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว สตรี และเด็ก มักจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งใดๆ ที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้ ดังนั้นกลุ่มสตรีทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว จึงพยายามสร้างสรรค์วิธีการที่จะไปเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการ และ/หรือขั้นตอนต่างๆ ทั้งนี้เพื่อสื่อให้เห็นถึงสิ่งที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับสตรีที่ต้องเกิดขึ้นในกระบวนการสร้างสันติภาพ อย่างไรก็ตาม กลุ่มสตรีมักไม่มีโอกาสได้เข้าไปอยู่ในกระบวนการดังกล่าว ดังนั้นกลุ่มสตรีมักใช้วิธีสร้างเวที หรือ กิจกรรมของกลุ่มสตรีขึ้นมาเอง แล้วดำเนินการแบบคู่ขนานกันไปกับกระบวนการสร้างสันติภาพ ทั้งนี้เพื่อให้ความต้องการของสตรี ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องที่สตรีได้รับผลกระทบ


5 มาตรการสำคัญเพื่อเพิ่มโอกาสมีส่วนร่วมให้กับกลุ่มสตรี

    สหประชาชาติตั้งเป้าหมายไว้ว่า ในช่วงสิบปีนี้ จะสถาปนา 5 มาตรการสำคัญ เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับกลุ่มสตรีได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสันติภาพให้มากยิ่งขึ้น 5 มาตรการสำคัญดังกล่าว ประกอบไปด้วย

1) ต้องมีขั้นตอนที่ชัดเจน หรือ ขั้นตอนที่เป็นมาตรฐาน ที่จะทำให้แน่ใจว่าได้เปิดโอกาสให้กลุ่มสตรีเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่จุดเริ่มต้น
2) ต้องมีการจัดสรรงบประมาณที่ชัดเจน รองรับการเข้ามามีส่วนร่วมของกลุ่มสตรี
3) ต้องให้กลุ่มสตรีที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องสิทธิของสตรีได้เข้ามามีส่วนร่วมในคณะทำงานด้านเทคนิค และในทุกขั้นตอนสำคัญของกระบวนการเพื่อสันติภาพ
4) ทั้งบรุษ หรือ สตรีที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเจรจา (Mediator) ต้องได้รับการอบรมให้เกิดการรับรู้ในเรื่องสิทธิที่เกี่ยวกับเพศ ก่อนที่จะเริ่มทำงาน
5) ผู้ให้การสนับสนุนกระบวนการเจรจาเพื่อสันติภาพที่ให้ความสำคัญกับการเข้ามีส่วนร่วมของกลุ่มสตรี ควรจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอในกระบวนการ หรือ กิจกรรมการเจรจาเพื่อสันติภาพที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มสตรี


    นอกเหนือไปจากสาระสำคัญที่กล่าวไปแล้วข้างต้น UNIFEM ยังกล่าวสรุปว่า สาเหตุสำคัญของความล้มเหลวของกระบวนการเจรจาเพื่อสันติภาพ ส่วนใหญ่จะเกิดจากหลายๆ สาเหตุ เช่น ไม่สามารถตกลงกันได้ว่าจะให้เป็นคนกลางในการเจรจา ความขัดแย้ง หรือ ความเห็นที่ไม่ลงตัวภายในกันเองระหว่างกลุ่มติดอาวุธ การฝ่าฝืนข้อตกลงในการหยุดยิง ความล่าช้าของการดำเนินการในองค์ประกอบสำคัญต่างๆ เช่น การถอนกำลังทหาร หรือ กองกำลังติดอาวุธ ตามกำหนดการที่กำหนด หรือ สิทธิในการปกครองตนเอง เป็นต้น อย่างไรก็ตามไม่เคยปรากฏ หรือ มีหลักฐานที่ชัดเจนแต่อย่างใดว่า ความล้มเหลวในกระบวนการเจรจาเพื่อสันติภาพ นั้นเกิดขึ้นจากสาเหตุใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้กลุ่มสตรีเข้าไปมีส่วนร่วม หรือ การดำเนินการใดๆ ตามที่กลุ่มสตรีร้องขอ
(ข้อมูลอ้างอิง: Woman’s Participation in Peace Negotiations: Connections between Presence and Influence, United Nations Entity for Gender Equality and the Empowerment of Women, 2012)

Comment
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.