International Bamboo City เมืองแห่งไม้ไผ่เศรษฐกิจ ต้นแบบสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

 17 ก.พ. 2563 15:35 น. | อ่าน 4254
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

      ในขณะที่ราคาน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติพุ่งสูงขึ้นกว่าเท่าตัว พลังงานทางเลือกจึง เป็นทางเลือกหนึ่งที่เราควรหันมาสนใจ ปัจจุบันนี้ เชื้อเพลิงชีวมวลจากพืช เป็นที่ต้องการของตลาดโลกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ เชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญ ใช้ในการผลิตไฟฟ้า สำหรับโรงไฟฟ้า หรือโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งมีข้อดีคือให้ความร้อนสูงกว่าชีวมวลอย่างอื่น ขนส่งได้สะดวกเนื่องจากมีความหนาแน่นมาก มีเถ้าน้อย รวมทั้งส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เม็ดเชื้อเพลิงชีวมวลที่ผลิตจากไม้ไผ่ หรือ Bamboo  pellets เนื่องจากไผ่เป็นพืชที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ในสภาพแวดล้อมของประเทศไทย  อีกทั้งไผ่ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมช่วยลดปัญหาโลกร้อนได้เป็นอย่างดี ช่วยชะลอการกัดเซาะพังทลายของหน้าดิน และตลิ่งริมน้ำได้อีกด้วย
พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย “การปลูกไผ่เศรษฐกิจ”
      ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ในวันนี้ภายใต้การนำของ พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร นายทหารเรือ ผู้ที่เคยปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบ ในตำแหน่ง ผบ.นย.จ.นราธิวาส ก่อนผันบทบาทมาทำหน้าที่เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ ได้นำ ศอ.บต.ให้สร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ ในมิติของการพัฒนาหลากหลายโครงการ การส่งเสริมสนับสนุนการปลูกไม้ไผ่เป็นหนึ่งในโครงการที่เป็นความหวังของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยทาง ศอ.บต.ร่วม กับสภาเกษตรกรจังหวัดชายแดนใต้ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย ศอ.บต. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางเพื่อประสาน เชื่อมโยง ทุกภาคส่วน ใน การขับเคลื่อนโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยแนวทางการส่งเสริมเกษตรผสมผสานผ่านการปลูกไผ่เศรษฐกิจ โดยมีพื้นที่เป้าหมายการเพาะปลูกไม่น้อยกว่า 300,000 ไร่  โดยมีภาคีภาคการเกษตร ทำหน้าที่รวบรวม คัดกรองเกษตรกร     และเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกตามเป้าหมายนี้  ด้านวิชาการ โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะทำหน้าที่ศึกษาวิจัยและจัดทำข้อมูลด้านพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกไผ่ พัฒนาสายพันธุ์ไผ่เศรษฐกิจ ในนาม Yala Bamboo ให้เป็นพืชเฉพาะถิ่นของจังหวัดชายแดนภาคใต้
ความร่วมมือของภาคีเครือข่าย สู่ International Bamboo City

      นอกจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคีเกษตรกร และนักวิชาการแล้ว ในส่วนของภาคเอกชน ได้มีการเชื่อมโยงนักลงทุน จากบริษัทดีเค เอเนอร์จี จำกัด, บริษัท วูแอม คอร์เปอเรชั่น, บริษัท จีบี เอเนอร์จี จำกัด, บริษัท วู้ดพลัส จำกัด ซึ่งจะดำเนินการเป็นหน่วยรับซื้อไม้ไผ่เศรษฐกิจที่มีขนาดลำต้นเหมาะสมของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ โดยกำหนดอัตราการซื้อขายที่ราคาระหว่าง 650-700 บาท ต่อตัน เป็นระยะเวลา 21 ปี (พ.ศ.2563-2583) โดยได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ และได้ดำเนินการปลูกไผ่นำร่องในพื้นที่ จ.ยะลา ไปแล้ว 5,000 ไร่ ด้วยไผ่พันธุ์ ซางหม่น และบง เมื่อทดลองปลูกในพื้นที่ พบว่าเจริญเติบโต และแตกกอเร็ว, มีเนื้อหนา และตัน คาดว่าจะได้ชีวมวลปริมาณมาก สามารถแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงพลังงานชีวมวลอัดเม็ดเพื่อการส่งออกได้

      ในการเริ่มต้นโครงการ จะได้มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้การผลิตไผ่เศรษฐกิจ ต้นแบบอุตสาหกรรมป่าไม้เศรษฐกิจ และแปรรูปแบบครบวงจรโดยประชาชนมีส่วนร่วม  กระจายในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ให้ครอบคลุมทั้ง 5 จังหวัด เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งเป็น “อุตสาหกรรมไม้ไผ่เศรษฐกิจของประชาชน”   โดยไม่ดำเนินการใดใดที่จะนำไปสู่การสร้างปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ และมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน  แต่จะเป็นต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน มุ่งสร้างสังคมที่ประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก และสงบสุข ด้วยการสร้างจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็น เมืองแห่งไม้ไผ่เศรษฐกิจต้นแบบการบริหารจัดการที่ครบวงจร

Comment
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.