
ในปี พ.ศ. 2561 นี้ เป็นวาระครบรอบ 11 ปี อุทยานการเรียนรู้ยะลา (TK Park Yala) อุทยานการเรียนรู้ภูมิภาคแห่งแรก ซึ่งเกิดขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่าง สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) และ เทศบาลนครยะลา มุ่งหมายเพื่อเปิดพื้นที่สาธารณะสำหรับเยาวชน และประชาชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้มีโอกาสเรียนรู้การอยู่ร่วมอยู่กันในแหล่งเรียนรู้มีชีวิต แลกเปลี่ยนนวัตกรรมหลากสาขา และร่วมสร้างสังคมการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดระยะเวลา 11 ปีที่ผ่านมา จากแต่แรกเริ่ม ที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ไม่สงบ ทำให้มีแนวคิดสร้างพื้นที่ในสังคม เพื่อให้โอกาสทุกคนมาเรียนรู้ร่วมกัน ให้ทุกคนมีพื้นที่ค้นหาศักยภาพของตัวเอง และที่สำคัญให้คนในชุมชนในเขตจังหวัดยะลาอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ปัจจุบันอุทยานการเรียนรู้ยะลาเป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่สำคัญในสังคมพหุวัฒนธรรม ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก เยาวชน และประชาชนในเขตจังหวัดยะลา และพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งในด้านการส่งเสริมการอ่าน การพัฒนาทักษะชีวิต การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม การเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เป็นการเติมเต็มความรู้ และทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตของเด็ก และเยาวชน
ในวาระนี้ทางอุทยานการเรียนรู้ยะลา ได้ฉลองครบรอบ 11 ปี ภายใต้แนวคิด We dare to dream ,we care to you, we share to all เปิดตัวโครงการใหม่ ได้แก่ โครงการห้องสมุดมนุษย์ หรือ Human Library เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา โดยเกิดจากความตระหนักว่า ห้องสมุดในยุคปัจจุบันนั้น ความรู้ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่เพียงในหนังสือเท่านั้น แต่ยังมีแหล่งความรู้สำคัญ และมีความแตกต่างเป็นอัตลักษณ์ องค์ความรู้เฉพาะของแต่ละท้องถิ่น อันได้แก่ กลุ่มคนที่มีความรู้ มีความเป็นปราชญ์ เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ซึ่งบุคคลเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในห้องสมุด ไม่ได้อยู่ในหนังสือ ไม่มีตัวหนังสือหรือเรื่องราวที่บอกว่าตัวเขาเป็นใคร มีความสำคัญอย่างไร และจะแบ่งปันขยายความรู้ได้อย่างไร
อ่านมนุษย์ 12 ปราชญ์ 11 องค์ความรู้
โครงการห้องสมุดมนุษย์ หรือ Human Library จะเป็นจุดเชื่อมโยงแนวความคิด การส่งต่อความรู้ต่างๆ ไปให้กับเยาวชน และบุคคลที่ต้องการเรียนรู้และแก้ปัญหา หรือคนที่ต้องการแชร์ประสบการณ์ โดยทางอุทยานการเรียนรู้ยะลาได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญทั้ง 12 ท่าน ซึ่งแต่ละท่าน ก็จะเชี่ยวชาญในศาสตร์วิชาที่แตกต่างกัน เป็นเสมือนองค์ความรู้นอกหนังสือให้เยาวชน และนักเรียน นักศึกษา ได้เรียนรู้ ได้ศึกษาหาข้อมูลในด้านที่ต้องการได้อย่างแท้จริง โดยทางอุทยานการเรียนรู้ จะเป็นสื่อกลางในการเชื่อมต่อระหว่างผู้เชี่ยวชาญกับเยาวชนนั่นเอง
อาจารย์โสภณ พฤษวานิช องค์ความรู้ด้านการเขียน
“เรื่ององค์ความรู้ที่ถนัดคือ เป็นคนที่รักการเขียนกลอน และการแต่งคำประพันธ์มาแต่ไหนแต่ไร มาเขียนบทร้อยกรองเป็นเล่มจริงๆ คือ นิราศวัดถ้ำ พิมพ์แจกที่วัดคูหาภิมุข ครั้งที่สองมาเขียนหนังสือใน TK Park เรื่องวัดถ้ำคูหาภิมุข เรื่องที่ช่วยให้ความรู้ได้จะเป็นเรื่องร้อยกรองไม่ว่าจะเป็นการอ่านร้อยกรอง หรือการเขียนร้อยกรอง แต่งกลอน โคลง กาพย์ และแต่งฉันท์ได้ ท่านใดสนใจก็พอจะให้ความรู้ได้”
นายบุญส่ง ลอยสุวรรณ องค์ความรู้ด้านกวี
“จุดที่เราถนัดที่สุดจะเป็นสารคดี เพราะว่าผู้อ่านเข้าถึงได้ทันที เพราะสารคดีเป็นงานที่ผสมผสานระหว่างความจริงกับจินตนาการ เราสามารถสอดแทรกเทคนิคทางด้านภาษา ไม่ว่าจะเป็นบทกวีหรือบทพูดเข้าไปในงานสารคดีได้หมด อยากให้เยาวชนไทยหรือคนไทยหันกลับมาสู่เรื่องของการอ่านหนังสือ”
อาจารย์ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ องค์ความรู้ด้านการเขียน
“เป็นนักเขียนอิสระ ใช้เครื่องมือในการเขียนในการสร้างรายได้ หรือในการทำกิจกรรมที่กระตุ้นให้เยาวชนคนรุ่นใหม่หันมาสนใจการอ่านการเขียน การเขียนมันคือเรื่องของพลังทางศิลปะ มันมีพลังวรรณกรรมอยู่ การเขียนจะช่วยคลี่คลายปัญหาได้ช่องทางหนึ่ง รวมถึงการเขียนที่ใช้เป็นเครื่องมือให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่เพื่อบอกเล่าในสิ่งที่เขาอยากบอกเล่าเรื่องราวดีๆ ในชุมชน”
รองศาสตราจารย์นิคอเละ ระเด่นอาหมัด องค์ความรู้ด้านจิตรกรรม
“มีความถนัดทั้งการทำงาน และสอนในวิชาจิตรกรรม ผลงานที่ออกมาจะเป็นสื่อการสอนเพื่อให้นักศึกษาได้เห็น และกลายเป็นผลงานศิลปะที่สามารถจะเผยแพร่ได้ทั้งในระดับสถาบัน ระดับจังหวัด ระดับประเทศ ผลงานหลายชิ้นได้ถูกตีพิมพ์ในนิตายสารที่มีชื่อเสียงหลายต่อหลายฉบับ ออกสื่อโทรทัศน์บ้าง หนังสือพิมพ์บ้างจนเป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศ ตอนนี้นอกจากจะเป็นผู้สอนในมหาวิทยาลัย ภายหลังมีผู้สนใจจากภายนอกมากมาย ที่อยากจะเรียนศิลปะ แต่เขาไม่มีโอกาส จึงมาขอเรียน ขอแนะนำที่บ้านหรือที่ทำงานให้สอนในช่วงเวลาพิเศษ จนได้รับความรู้ ได้เกิดทักษะ พัฒนาการทางด้านฝีมือ จากคนที่ไม่เคยเรียนรู้ด้านศิลปะมาก่อนจนได้เป็นศิลปิน สามารถไปประกอบอาชีพทางด้านศิลปะได้”
อาจารย์วีระศักดิ์ อักษรถึง องค์ความรู้ด้านดนตรี
“ผมทำหน้าที่เป็น conductor ปรับเพลง ปรับวง และสอนทำวง Big Band ทำวง Orchestra และวงอีกหลากหลายชนิด เพื่อที่จะรวมเป็น อองซอมเบิ้ล ก็พยายามหาวิธีที่จะทำให้เด็กมีแรงบันดาลใจแล้วก็มีความใฝ่ฝัน อยากทำสิ่งดีดีให้กับชีวิตตัวเอง ให้กับสังคม ถ้าเขาคิด และสร้างแรงบันดาลใจอย่างนี้ได้ เขาจะทำได้ด้วยตัวเอง โดยที่มีเรา มีหลักวิชาพื้นฐานให้กับเขา เพราะฉะนั้นมันจะไม่ถูกจำกัด จะมีความหลากหลาย”
นายรัศมินทร์ นิติธรรม องค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมท้องถิ่น
“ผมได้สร้างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขุนละหารขึ้นมาก็เพื่อที่จะบอกเล่าความเป็นตัวตนของคนในสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยศึกษาในเรื่องของความเชื่อ เช่น ความเชื่อในเรื่องสังคม การอยู่ร่วมกัน การปรองดอง สามัคคีกัน เวลาเด็กมาที่นี่ผมก็สอนให้รู้ว่า มาที่นี่มาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เรียนรู้เพื่อให้รู้จักตัวตน รู้จักตัวตนแล้วเราก็เก็บรวบรวมภูมิปัญญาต่างๆ และนำมรดกภูมิปัญญาต่างๆ เหล่านี้มาสร้างเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เด็กได้เรียนสนุก ได้หัดใช้จินตนาการของเขาในการสร้างนวัตกรรม สร้างผลิตภัณฑ์ ต่างๆ
นายธนวัฒน์ พรหมสุข องค์ความรู้ด้านผ้าจวนตานี
“ได้ทำการศึกษาข้อมูล และทำวิจัยขึ้นมาในระยะเวลาปัจจุบันรวม 8 ปีแล้ว และได้มีการพัฒนาการ รื้อฟื้นขึ้นมาในรูปแบบดั้งเดิม เราเป็นลูกหลานต้องการที่จะสืบทอด และฟื้นฟูกลับคืนมา โดย ทอเอง มัดเอง จากการถอดแบบจากผ้าโบราณ และเร็วๆ นี้ผมได้มีการจัดทำพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ให้ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ผ้าจวนตานี และความรู้ในการทอผ้า ยินดีที่จะให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ช่วยกันอนุรักษ์สืบสานผ้าจวนตานีไม่ให้สูญหายไป”
นายเอ็มโซเฟียน เบญจเมธา องค์ความรู้ด้านเซรามิก
“ความถนัดจริงๆ แล้ว ตั้งแต่เด็ก ถนัดเรื่องงานออกแบบ วาดรูปเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว และได้เรียนด้านการออกแบบโดยตรง กลับมาบ้านก็พยายามหาอะไรที่สามารถต่อยอดความรู้ ควบคู่ และเชื่อมโยงในสิ่งที่คุณพ่อทำไว้บ้าง ก็เลยคิดวาเราน่าจะสร้างมูลค่าให้กับดินของเรา ให้คุณค่าของดิน ให้เป็นเอกลักษณ์ เป็นอัตลักษณ์ที่เกิดความภาคภูมิใจ แน่นอนคนเราจะไม่ได้ปักหลักในสิ่งที่ทำในทุกวันนี้ว่าจะต้องทำไปตลอดชีวิต เพราะเราคิดว่ามันมากกว่าอาชีพ มันสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เริ่มขึ้นจากสิ่งที่เราชอบ และตื่นเต้นกับอะไรใหม่ๆ และอย่าลืมตั้งใจว่าสิ่งที่ทำทั้งหมด ต้องตอบโจทย์ชุมชน หนึ่งชีวิตเกิดมาพยายามสร้างนวัตกรรมให้กับชุมชนเราให้ได้ครับ”
รองศาสตราจารย์ เฉลิมยศ อุทยารัตน์ องค์ความรู้ด้านเคมี
“ผมชอบในงานวิจัยการทดลองหาสิ่งใหม่ๆ สิ่งที่ใช้ความรู้ด้านเคมีไปประกอบในการแก้ปัญหาท้องถิ่น เราจะต้องเสริมเด็ก สร้างเด็กให้รู้จักใช้วิชาความรู้ไปสู่ชีวิตจริงให้ได้ ถ้าทำได้อย่างนี้ ความเป็นอยู่ของชาวบ้านก็สามารถใช้ประโยชน์ความรู้ได้จริง และการเรียนของนักเรียนก็จะสนุกขึ้น
ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย องค์ความรู้ด้านพอลิเมอร์
“เราเชี่ยวชาญด้านขยะ การรีไซเคิล เราจะโฟกัสไปทางขยะยาง ขยะพอลิเมอร์ การรีไซเคิล ยาง และพอลิเมอร์ พอเราทำเรื่องชุมชน ให้ทำโปรดักท์ให้ชุมชน เราก็จะให้ชาวบ้านทำผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับยาง ผมมองว่าเราต้องมองความแตกต่าง ความได้เปรียบในหลายเชิง โดยเฉพาะในเชิงความเป็นมนุษย์ ความเป็นพื้นที่ ให้มากๆ เพราะว่าความที่เป็น Standard หรือความเป็น Inter มันจะเป็นสิ่งที่หาง่าย เป็น Commodity ในอนาคต เราลองคิดดูดีๆ ว่าถ้าเรามีเทคโนโลยีมาทดแทนจะทำยังไง งั้นเราลองกลับมามองในความเป็นมนุษย์ หรือความเป็นคนในพื้นที่ มันมีศักยภาพอะไรที่เทคโนโลยีมันทดแทนยาก”
นายอนัน วาโชะ องค์ความรู้ด้านการออกแบบกราฟฟิก
“ มีโอกาสดีที่ได้เรียนออกแบบนิเทศศิลป์ แล้วอยู่กรุงเทพมา 10 กว่าปี รู้สึกว่าต้องกลับมาทำอะไรให้ที่บ้านบ้างแล้ว พอถึงเวลาก็รีบกลับมาอยู่ที่บ้าน ก็แต่งหนังสือ เป็นนักเขียนไปด้วย ได้แต่งหนังสือหลายเล่มในหมวดกราฟฟิก และก็จะคอยสนับสนุนในความรู้เรื่องกราฟฟิก เวลามีกิจกรรมดีๆ เขาเชิญผมมา ได้รวมตัวกันมาศึกษาเรื่องกราฟฟิก และเพิ่มพูนความรู้กันมากขึ้น มันเป็นการดีที่คนๆ หนึ่งได้เกิดมาแล้วก็ส่งต่อถ่ายทอดความรู้ไปให้อีกคนหนึ่ง “
นายนครินทร์ ชินวรโกมล องค์ความรู้ด้านการใช้กล้องและการถ่ายภาพ
“ความสนใจจะเป็นคนที่ชอบถ่ายรูปมาก มีการรวมตัวกลุ่มถ่ายภาพขึ้นมา ชื่อว่า The Gang Foto Yala ซึ่งจะนำเสนอแต่ภาพดีๆ ของจังหวัดยะลา เราจะมีการจัดการอบรมการถ่ายภาพ การจัดทริปถ่ายรูป จะมีการสอนวิธีการถ่ายภาพ”
นั่นคือกิจกรรมดีๆ ของ “โครงการห้องสมุดมนุษย์ หรือ Human Library” ของอุทยานการเรียนรู้ยะลา (TK Park Yala) สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) และ เทศบาลนครยะลา ซึ่งจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้มิติทางด้านวัฒนธรรม และวิถีชีวิต การเปลี่ยนมุมมองสู่โลกกว้าง และส่งเสริมให้เยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดทัศนคติที่ดีต่อการใช้ชีวิต ซึ่งเป็นพื้นฐานอันสำคัญยิ่งต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ภายใต้บริบทพหุวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
Comment