3 ศาสตร์ 3 ศิลป์เพื่อหัวใจเดียวกัน

 03 ต.ค. 2561 19:32 น. | อ่าน 4746
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

      ตามที่รัฐบาลโดยคณะผู้แทนพิเศษรัฐบาลได้ให้การสนับสนุนงบประมาณแก่กลุ่มองค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคม ตามโครงการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ กลุ่มหัวใจเดียวกัน คือหนึ่งในองค์กรภาคประชาสังคมต้นแบบ ที่ได้รับงบสนับสนุนจาก ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยเลือก 22 องค์กร จาก 223 องค์กร จากการที่กลุ่มหัวใจเดียวกันได้ทำงานสร้างสรรค์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง เช่น สนับสนุนการเผยแพร่วัฒนธรรม ค่ายพัฒนาเยาวชน เช่น การเขียน ถ่ายภาพ สร้างหนัง ฯลฯ
ค่าย 3 ศิลป์ เขียน-ถ่ายภาพ-สร้างหนัง
      กลุ่มหัวใจเดียวกันได้รับการสนับสนุนในการดำเนินกิจกรรม การพัฒนาเทคนิคการเขียน การถ่ายภาพ การทำสารคดีสั้นเพื่อการสื่อสารและเพิ่มศักยภาพองค์กรภาคประชาสังคม ภายใต้ชื่อกิจกรรม “ค่าย 3 ศิลป์ เขียน-ถ่ายภาพ-สร้างหนัง”
      ค่าย 3 ศิลป์ได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มากด้วยความสามารถในด้านต่างๆ ได้แก่ คุณชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ ผู้อำนวยการกลุ่มหัวใจเดียวกัน นักเขียนอิสระ และนักกิจกรรมแห่งชายแดนใต้ วิทยากรด้านการเขียน ได้แก่ คุณชรินทร์ แช่มสาคร นักข่าวผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อมวลชนมากว่า 30 ปี, คุณอนุสรณ์ ศรีคำขวัญ นักเขียนมือรางวัล วิทยากรด้านการถ่ายภาพ คุณเกริ่น เขียนชื่น ช่างภาพอิสระ เจ้าของรางวัลถ้วยพระราชทานฯ ผู้หลงรักชายแดนใต้ และเคยล่องเรือกอและจากนราธิวาส ไปถึงกรุงเทพมหานคร และ มูหมัด ซอเร่ เด็ง ช่างภาพอิสระ มือรางวัล ผู้ถ่ายทอดด้านงามของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้สู่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง และด้านการสร้างหนัง ได้แก่ นำพล ตระการผล ผู้กำกับชั้นแนวหน้าของเมืองไทย ผู้สร้างนักข่าวพลเมืองมาหลายต่อหลายรุ่น พร้อมดีกรีหัวหน้าฝ่ายสื่อเพื่อการเรียนรู้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และ ชารีฟ อดุยศาสตร์ ผู้ผลิตสื่อโทรทัศน์อิสระ ผู้ผลิตสารคดีชั้นยอดออกรายการโทรทัศน์มากมาย และคุณอลิษา ดาโอ๊ะ อาจารย์พิเศษ สาขานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
      สำหรับการอบรมค่าย 3 ศิลป์ ผู้เข้าร่วมการอบรมจะได้เรียนรู้เทคนิคการสร้างศิลปะทั้งสามแขนง ได้แก่ ด้านการเขียน การถ่ายภาพ การสร้างหนังสั้นจากโทรศัพท์มือถือ และเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้เลือกศิลปะที่ตนเองถนัด เพื่อลงลึกและสร้างผลงานขึ้นมา ผ่านกิจกรรมเวิร์กช็อป เรียนรู้และได้คำแนะนำจากวิทยากรอย่างใกล้ชิด และเป็นกันเอง โดยกิจกรรมมีทั้งส่วนการเรียนรู้ในห้องปฏิบัติการ และการลงพื้นที่เพื่อปฏิบัติงานจริง ไปสู่การนำเสนอและการวิจารณ์ผลงานเพื่อการพัฒนา
แง่งามชายแดนใต้ งอกงามจากค่าย 3 ศิลป์
      ผลการเข้าร่วมการอบรมเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก จากผู้ที่มีพื้นฐานมาก่อนบ้างเล็กน้อยก็สามารถเพิ่มพูนความรู้ได้มากขึ้น และจากผู้ที่ไม่เคยมีความรู้มาก่อนก็สามารถสร้างผลงานได้แบบก้าวกระโดด น่าชื่นชม เช่นคลิปสารคดีสั้นเรื่อง ความสุขของเด็กรูสะมิแลที่สามารถสร้างรอยยิ้ม สร้างความสุขให้กับผู้ที่ได้รับชมเป็นอย่างมาก ผู้เข้าร่วมกิจกรรมนำไปต่อยอดกิจกรรมตัวเองได้ ซึ่งผลงานต่างๆ จากค่ายทั้งสามรุ่น ทางทีมงานกลุ่มหัวใจเดียวกันได้รวบรวม และจัดทำเป็น E-book ชื่อว่า "แง่งามชายแดนใต้" ประกอบด้วยงานเขียน ภาพถ่าย และคลิปสารคดีสั้น ( MOJO) ฝีมือของผู้เข้าอบรมค่าย 3 ศิลป์ ซึ่งสามารถอ่านบทความ และชมทั้งผลงานภาพถ่ายและคลิปสารคดีสั้นได้ทาง E-Book ฉบับออนไลน์ ได้ที่
https://issuu.com/alisadear/docs/3sil_ebook01

 


      ผู้เข้าร่วมค่าย 3 ศิลป์มีทั้งเยาวชน นักเรียน นักศึกษา คนทำงานภาคประชาสังคม รวมไปถึงข้าราชการที่ทำงานเพื่อชุมชนท้องถิ่น ได้แก่ วราภรณ์ เงินราษฎร์ ผู้ใหญ่บ้านหญิงแห่งอำเภอธารโต จังหวัดยะลา ที่เลือกที่จะผลิตผลงานเขียนของตนเอง ซึ่งผลงานที่ออกมาสามารถอธิบายตัวตนของเธอและก้าวสู่การเป็น“นักเขียนใหม่” ได้อย่างน่าสนใจ โดยเขียนเล่าถึงคำสั่งสอนของพ่อแม่ในวัยเด็กเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต และการที่พ่อแม่ให้ความสำคัญกับการศึกษาของลูกจนเธอได้เรียนจนจบปริญญาตรี และกลับมาทำงานเพื่อบ้านเกิดของตน โดยตั้งปณิธานในการทำงานว่า “เราจะต้องทำงานที่อยู่บนพื้นฐานของความไว้วางใจให้เต็มที่และดีที่สุด”
      หลังจากจบค่าย 3 ศิลป์ทั้งสามรุ่น ผู้เข้าร่วมอบรมต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า วิทยากรถ่ายทอดความรู้ได้อย่างเข้าใจ และเป็นกันเอง จนเป็นกระแสได้รับความสนใจจากสื่อต่างๆ มากมาย และนี่คือส่วนหนึ่งของความคิดเห็นและความรู้สึกของผู้เข้าร่วมกิจกรรม
      "ค่าย 3 ศิลป์สอนได้ดีมาก อย่างหนูเป็นคนที่อยากจะเขียน แต่ไม่กล้าที่จะเขียนออกไป กลัวว่าเขียนไปแล้ว เขาจะไม่รู้เรื่อง....ทีแรกหนูเข้าใจว่า คนอื่นจะอ่านเข้าใจอย่างที่เราเขียน แต่มันไม่ใช่ มารู้ว่า เราควรขยายความให้คนอ่านเข้าใจด้วย เพราะเขาไม่ได้เข้าใจเหมือนเรา" อาซีม๊ะ ดามาลอ บัณฑิตอาสา สมาชิกค่าย 3 ศิลป์ รุ่น 2 ปัตตานี
      “ไม่เหมือนเข้าค่าย แต่เหมือนไปเที่ยวกับเพื่อน และมีวิทยากรที่มากความสามารถคอยแนะนำเรา บางอย่างเราไม่เคยรู้มาก่อนจากการเรียน แต่มารู้ในค่ายนี้ เรามีโปรเจ็คท์ก่อนหน้านี้แล้วแต่ไม่รู้ว่าจะทำในรูปแบบไหน พอได้ไปค่ายนี้กลับมาเราก็เอาไอเดียกับศาสตร์ที่ได้จากค่ายมาลงมือทำงาน” สุทธิดา ง่วนดา นักศึกษาคณะวิทยาการสื่อสาร
      บุคอรี อีซอ “ก่อนหน้านี้ใช้แต่กล้องใหญ่ DSLR พอไปเข้าค่ายมีการสอนการใช้ MOJO หรือการถ่ายด้วยโทรศัพท์ก็รู้สึกว่า มันตัดต่อกับโทรศัพท์ได้อย่างรวดเร็ว ถ่ายด้วยโทรศัพท์ ตัดต่อแล้วใช้ได้เลย”
      ซานูซี เจะมะ “การเข้าร่วมค่ายสามศิลป์ทำให้ผมได้พัฒนาตัวเอง ได้หลักการในการเขียน สามารถตัดความซ้ำซ้อน มีแนวทางการเขียนให้น่าสนใจ สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน และใช้ทำเพจ ที่นี่ชายแดนใต้”

ต่อยอดเพื่อสันติสุข

      ในปี พ.ศ.2561 นี้ ทางกลุ่มหัวใจเดียวกันก็ได้ร่วมกับอุทยานการเรียนรู้ยะลา จัดกิจกรรม ค่าย 3 ศิลป์ Unseen Yala ขึ้นเมื่อ 28-30 เมษายน ที่ผ่านมา เพื่อได้เยาวชนอายุ 15-25 ปีได้เรียนรู้สืบสานมรดก วัฒนธรรม ของดีของเด่นของจังหวัดยะลา และนำมาถ่ายทอดเรื่องราวผ่านงานเขียน งานภาพถ่าย และสื่อวิดีโอ และนำผลงานของผู้เข้าร่วมมาจัดแสดงเป็นนิทรรศการ สามศิลป์ อันซีนยะลา
      กลุ่มหัวใจเดียวกัน และผู้เข้าร่วมค่าย 3 ศิลป์ทั้งสามรุ่นเชื่อว่า ปัญหาในพื้นที่คงต้องอาศัยเวลาอีกนานในการแก้ปัญหา ความซับซ้อนของปัญหา ไม่ใช่เรื่องที่จะอาศัยใครขี่ม้าขาวมาแก้ แต่เป็นเรื่องของภาคประชาสังคมที่จะช่วยกัน ซึ่งการพัฒนาทักษะในการสื่อสารก็เป็นการเพิ่มศักยภาพให้คนในพื้นที่ที่จะสื่อสารหรือมีสวนร่วมในการพัฒนาพื้นที่อีกรูปแบบหนึ่ง การถ่ายทอด และการเรียนรู้เทคนิคศิลปะทั้งสามแขนงจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้าใจ ความร่วมมือเพื่อสันติสุขโดยรวมให้กับพื้นที่ และสามารถขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

Comment
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.