จากหมู่บ้านสู่ป่าเขา บ่งชี้ความสำเร็จ

 11 ก.พ. 2558 18:50 น. | อ่าน 5379
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

 

“ในอดีตการปะทะกันนั้นส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในพื้นที่หมู่บ้านเป็นหลัก แต่ในระยะหลังมานี้ ยิ่งในช่วงรัฐบาล คสช. (หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้าควบคุมอำนาจการปกครอง) การปะทะกันเปลี่ยนไปอยู่ตามปอเนาะ อยู่ตามพื้นที่ป่าเขา แสดงให้เห็นว่าการดำเนินแผนของฝ่ายความมั่นคงได้ผลแล้ว สามารถบีบให้ผู้ก่อความไม่สงบสูญเสียพื้นที่หมู่บ้าน ต้องเข้าไปเคลื่อนไหวตามป่าเขา” คำอธิบายสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของพลตรีชินวัตร  แม้นเดช ผู้อำนวยการศูนย์สันติสุช กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค 4 ส่วนหน้า บ่งชี้ว่า ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบเข้าสู่ช่วงเสื่อมถอยของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ภายหลังสูญเสียแนวร่วมจำนวนมากจากนโยบายพาคนกลับบ้านเปิดพื้นที่พูดคุยกับผู้เห็นต่างทางความคิดจากภาครัฐ ส่งผลให้แนวร่วมจำนวนนับพันคนหันหลังให้ขบวนการ เข้ารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่รัฐเพี่อกลับไปใช้ชีวิตกับครอบครัว ขณะเดียวกันในอีกด้านหนึ่งการดำเนินแนวทางบังคับใช้กฏหมายอย่างเข้มงวดโดยการติดตามนำตัวผู้ที่มีหมายจับคดีอาญาและคดีความมั่นคงมาดำเนินคดีตามกฏหมาย และความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนที่มีต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐทำให้ได้ข่าวสารความเคลื่อนไหวของฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบเพิ่มมากขึ้น ปัจจัยทั้งหมดข้างต้นส่งผลให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถเข้าควบคุมพื้นที่ในหมู่บ้านได้มากขึ้น กดดันกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบให้ต้องล่าถอยเข้าสู่พื้นที่ป่าเขา หรือไม่ก็แฝงตัวเข้าไปหลบซ่อนในโรงเรียนปอเนาะ 

 

การดำเนินการปิดล้อมตรวจค้นเพื่อติดตามจับกุมผู้ที่มีหมายจับโดยใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก เริ่มจากการให้ญาติพี่น้อง ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชนเกลี้ยกล่อมหว่านล้อมให้มอบตัวกับเจ้าหน้าที่เป็นแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ความมั่นคง ในกอ.รมน.ภาค 4 สน. ที่พบเห็นได้เป็นปรกติ และการปะทะจนนำไปสู่การสูญเสียชีวิต มักจะเป็นฉากสุดท้ายที่หลักเลี่ยงไม่ได้เนื่องจากคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงใส่เจ้าหน้าที่เพื่อเปิดทางหลบหนี ด้วยเหตุนี้ในระยะหลังๆ ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบจึงไม่สามารถปฏิบัติการข่าวสารใส่ร้ายป้ายสีเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ว่าสังหารชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ได้ เพราะปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นทุกครั้ง เจ้าหน้าที่มีญาติพี่น้องของคนร้ายรวมทั้งผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน ร่วมเป็นสักขีพยาน

 

การขยายมวลชนในหมู่บ้านกดดันผู้ก่อความไม่สงบให้ล่าถอยกลับเข้าพื้นที่ป่าเขา ผสานกับความร่วมมือกับรัฐบาลมาเลเซียในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับรัฐบาลไปจนถึงระดับท้องถิ่น เห็นได้จากการที่นายกรัฐมนตรีไทยและมาเลเซียเดินทางเยี่ยมเยือนปรึกษาหารืออย่างเป็นทางการถึง 2 ครั้ง และล่าสุดรัฐมนตรีกลาโหมมาเลเซียก็เพิ่งเดินทางมาร่วมประชุมกรรมาธิการชายแดนไทย-มาเลเซีย ที่กรุงเทพ พร้อมเข้าพบหารือเกี่ยวกับปัญหาจังหวัดชายแดนใต้กับพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความจริงจังของมาเลเซียในการร่วมมือกับไทย เนื่องจากมาเลเซีย เองก็มีส่วนได้รับผลกระทบจากปัญหาในจชต.เช่นกัน เพราะความไม่สงบทำให้พื้นที่จชต.กลายเป็นแหล่งผลิตหรือจัดหาอาวุธส่งเข้าไปขายให้กับอาชญากรในมาเลเซีย ขณะเดียวกันรัฐบาลมาเลเซียก็กำลังเผชิญกับปัญหาประชาชนบางกลุ่มให้กับสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายที่ใช้ชื่อว่ารัฐอิสลาม หรือ ไอเอส รวมทั้งมีพวกเคร่งศาสนาเดินทางไปร่วมรบกับกลุ่มไอเอส ในซีเรีย ซึ่งในจำนวนนี้มีอุสตาซจากรัฐกลันตัน คนหนึ่งเดินทางไปรบและเสียชีวิตในซีเรีย เป็นข่าวครึกโครมในวิดิโอข่าวของนิวยอร์คไทมส์ ด้วยเหตุผลเหล่านี้ทำให้มาเลเซียให้ความร่วมมือกับไทยเพื่อพยายามรักษาดุลยภาพของสังคมมาเลเซียให้คงความเป็นสังคมมุสลิมสายกลาง หรือ moderate muslim ที่สามารถปฏิบัติศาสนกิจความเป็นมุสลิมที่ดี ภายใต้การดำรงชีวิตสมัยใหม่  ด้วยเหตุนี้เององค์กรมุสลิมในมาเลเซีย จึงยื่นมือเข้ามาทำงานร่วมกับผู้นำในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มากขึ้น เช่นเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ นี้ สภาอิสลามแห่งรัฐเปอร์ลิสก็ได้มีการประชุมปรึกษาหารือร่วมกับผู้นำมุสลิมหกจังหวัดริมทะเลอันดามันของไทย เพื่อวางกรอบการดำเนินงานกิจการอิสลามร่วมกัน

 

การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เข้าสู่แนวทางที่ถูกต้อง สะท้อนออกมาจากความพึงพอใจของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยสถาบันราชภัฏยะลาร่วมกับ ศอ.บต.ทำการสำรวจทัศนะคติของประชาชนที่มีต่อการแก้ปัญหาของรัฐบาลคสช.ในช่วง 4 เดือนแรก พบว่า ประชาชนมองว่าเหตุรุนแรงลดลงร้อยละ 78 และร้อยละ 72 เชื่อว่ารัฐบาลแก้ปัญหาถูกทางแล้ว

Comment
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.