จิตอาสา พัฒนาบ้านเกิด บ้านเขาตันหยง จังหวัดนราธิวาส

 23 ส.ค. 2560 23:35 น. | อ่าน 4956
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

      การทำงานเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นไม่ว่าในพื้นที่ใดก็ตาม บทบาทหลักสำคัญมิได้อยู่แค่เพียงหน่วยงานภาครัฐที่ควรมีบทบาทในหนุนเสริมเท่านั้น แต่ในทุกพื้นที่มีกำลังหลักสำคัญ นั่นคือ ประชาชนเจ้าของพื้นที่เอง ที่จะเป็นผู้กำหนดเป้าหมายทิศทางและลงมือปฏิบัติ และมักจะมีกลุ่มหรือบุคคล ที่มีบทบาทในการเป็นผู้นำจิตอาสา ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มชาวบ้าน และเป็นตัวแทนในการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อส่งเสริมให้การปฏิบัติงานลุล่วงไปได้ด้วยความเข้าใจ “จิตอาสา” คือ ชื่อเรียกบุคคล ที่เข้ามามีบทบาททำงานเพื่อชุมชนและบ้านเกิดของตัวเองอย่างเข้าใจและเต็มใจ  และหนึ่งในบุคคลเหล่านั้น ได้แก่ คุณมะรอฟี ลอตันหยง จิตอาสาบ้านเขาตันหยง ตำบลกะลุวอ จังหวัดนราธิวาส  ผู้มีบทบาทสำคัญในการประสานงานระหว่างหน่วยงานรัฐร่วมกับชุมชนเพื่อช่วยเหลือประชาชนในหลายๆ ด้าน และผลจากการทำงาน เพื่อชุมชนของเขานั่นเอง ทำให้ได้รับรางวัลอันน่าภาคภูมิใจ นั่นคือ “รางวัลผู้ปฏิบัติงานดีเด่นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” จากสมเด็จพระรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี

หยั่งรากความเป็นจิตอาสา

      คุณมะรอฟี ลอตันหยง ต้องสูญเสียคุณแม่ไปตั้งแต่อายุ 8 ปี ยังไม่สามารถช่วยตัวเองได้ น้องๆ ก็ยังเล็กอยู่ แต่พอเติบโตย่างวัยมัธยม ก็ได้มีโอกาสเป็นล่ามให้ผู้ใหญ่บ้าน นายเซ็ง เจะมะ ผู้นำชุมชนผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ เนื่องจาก คุณมะรอฟีพูดภาษาไทยได้คล่อง เพราะคุณแม่เป็นคนเมือง จึงมีโอกาสได้เริ่มต้นทำงานจิตอาสา ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และด้วยความที่มีพี่ชาย คือ คุณซาดีลีซอ ชาวบ้านตำบล กะลุวอเหนือ เป็นผู้ถวายงานรับใช้สมเด็จพระเทพฯ เมื่อครั้งเสด็จทรงงานที่ จ.นราธิวาส และการที่ได้ทำงานร่วมกับอดีตผู้ใหญ่บ้าน เซ็ง เจะมะ อดีตผู้นำชุมชนบ้านเขาตันหยง ที่มุ่งมั่นทำงานเพื่อชุมชนและส่วนรวม ทำให้คุณมะรอฟี ได้ซึมซับคุณสมบัติข้อนี้ จากทั้งสองท่านมา จึงเลือกที่จะทำประโยชน์ต่อส่วนรวม ตามแบบอย่างที่ได้ใกล้ชิดและสัมผัสมาโดยตลอด

บทบาทในการปกป้องทรัพยากรท้องถิ่น

      บทบาทการทำงานเพื่อชุมชนท้องถิ่นของคุณมะรอฟี เริ่มต้นชัดเจนขึ้น ในบทบาทประธานเครือข่ายประมงพื้นบ้าน ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส โดยเริ่มจากการมองเห็นปัญหาวิกฤตทางทะเล วิกฤตชายฝั่ง จากเดิม ทะเลนราธิวาส เคยมีปะการังและกองหินใต้ทะเลที่สวยงาม บวกกับลักษณะภูมิประเทศที่เป็นช่องลมใต้พัดผ่านทำให้น่านน้ำแถบนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแพลงตอน ทำให้มีปลาน้อยใหญ่มาอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก แต่จากการที่มีเรือประมงพาณิชย์ต่างถิ่นเข้ามาทำประมง โดยใช้เรืออวนลากไปจนถึงหน้าดิน ส่งผลให้ระบบนิเวศใต้ทะเลถูกรบกวนอย่างหนัก และเสียหายอย่างมาก สัตว์น้ำที่เคยมีอยู่มากมายก็พลอยหายไปด้วย ปะการังที่เคยมีอยู่เหลือแต่เพียงพื้นทรายราบเรียบ โดยในช่วง ปี 2545 - 2546 การทำประมงในย่านนี้ จึงประสบวิกฤตหนัก สัตว์น้ำลดน้อยลง ทำให้ต้องออกทะเลไปไกลฝั่ง เสียทั้งเวลาและน้ำมัน ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นทำให้รายได้ไม่พอเลี้ยงครอบครัว ชาวบ้านบางส่วนต้องขายเรือไปทำอาชีพอื่น คุณมะรอฟี จึงได้รวบรวมคน โดยการชักชวนคนทำอาชีพประมงมาพูดคุยกัน และเห็นพ้องกันในการนำเสนอเรื่องการจัดการทรัพยากรชายฝั่งอย่างจริงจังตั้งแต่นั้นมา โดยเครือข่ายประมงพื้นบ้านทุกปีจะมีการรวมตัวกันและพูดคุยกัน และมีการปฏิบัติการฟื้นฟูทะเล ทั้งการวางชั้งแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน ปล่อยพันธุ์กุ้ง พันธ์เต่า และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชเสาวนีย์ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2552 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือ กองทัพบกจึงได้นำรถถัง ที 69 จำนวน 25 คัน มาทำเป็น "ปะการังเทียม" ในน่านน้ำ จ.นราธิวาส เพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ ทุกวันนี้ทั้งเต่าและสัตว์น้ำอื่นๆ เริ่มฟื้นฟูมากขึ้น มีปลาชนิดต่างๆ ชุกชุม ไม่ว่าจะเป็นปลาเศรษฐกิจอย่างปลากระมง ปลาสาก ปลาแก้วกู่ หรือปลาสวยงามอย่างปลาการ์ตูนอานม้า ปลาผีเสื้อ แม้กระทั่งทากเปลือยสีสันสดใสขวัญใจนักดำน้ำ ก็เข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ ชาวบ้านก็ทำมาหากินได้มากขึ้นกว่าเดิม คุณมะรอฟี มีความภาคภูมิใจในการผันตัวเองมาสร้างแรงบันดาลใจให้ชาวบ้านรักพื้นถิ่นของตัวเอง และภาคภูมิใจที่เห็นชาวบ้านมีกินมีใช้
มีความสุข

ผู้หนุนสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน

      นอกจากนี้ คุณมะรอฟียังทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาชุมชน โดยมีหน้าที่หลักในการเป็นวิทยากร กระบวนการ ทั้งในด้านวิชาการและการสร้างภาวะผู้นำ วิธีการทำงาน คือ การลงไปสร้างกระบวนการคิดวิเคราะห์ปัญหาในชุมชน โดยประสานกับผู้ขับเคลื่อนระดับตำบล เพื่อร่วมกันเรียนรู้ปัญหา และรวบรวมปัญหาเหล่านั้น บูรณาการแก้ไขในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมพัฒนาอาชีพ รวบรวมกองทุน เปิดโอกาสให้สมาชิกกู้ยืมในกรณีฉุกเฉิน อีกทั้งจัดทำสวัสดิการชุมชนด้านต่างๆ ทางด้านสุขภาพ รถฉุกเฉิน  ร้านค้าชุมชน รวมถึงแก้ปัญหาด้านที่อยู่อาศัย โดยการจัดสรรที่ดินและกู้ยืมทุนเพื่อทำการเกษตร ทำบ้านพักอาศัย  ต่อเติมซ่อมแซมปรับปรุงบ้าน คุณมะรอฟี ได้เข้าไปมีบทบาทในการประสานความช่วยเหลือและคิดวิเคราะห์ทั้งสิ้น โดยมีหลักคิดว่า จะทำอย่างไรให้คน ในตำบลที่มีกลุ่มองค์กรต่างๆ รวมตัวกันช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจชุมชนฐานราก เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ ให้ดีขึ้น กระตุ้นให้ชาวบ้านอยากพัฒนา เสริมสร้างความมั่นใจ โดยมี ตำบลกะลุวอ อ. เมือง จ.นราธิวาสเป็นพื้นที่ ที่เข้มแข็ง สามารถเป็นตัวอย่างให้ตำบลอื่นๆ ได้ เนื่องจากมีกลุ่มองค์กรต่างๆ หลากหลาย ได้แก่ กองทุนสวัสดิการวันละบาท ซึ่งต่อยอดเปิดเป็นร้านสวัสดิการชุมชน สามารถปันผลให้สมาชิกได้ ส่วนเงินรายได้ก็ไปต่อยอด อีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นกองทุนด้านอาชีพ กองทุนเพื่อที่อยู่อาศัย ให้การกู้ยืมกับสมาชิก โดยมีคุณมะรอฟี มีบทบาทหลักในการเป็นที่ปรึกษาของ ตำบลกะลุวอ

 

สานต่อพระปณิธาน ความภาคภูมิใจสูงสุด

      บ้านเขาตันหยง เป็นบ้านเกิดของคุณมะรอฟี และเป็นที่ตั้งวิสาหกิจชุมชนเข้มแข็ง ตามโครงการพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงจัดตั้งโครงการศูนย์เด็กเล็กบ้านเขาตันหยง เพื่อดูแลเด็กก่อนวัยเรียน ให้ได้รับการเลี้ยงดูและส่งเสริม ทั้งด้านร่างกาย จิตใจและสติปัญญา และที่สำคัญเป็นการผ่อนภาระผู้ปกครองที่ต้องออกไปทำงานหารายได้นอกบ้าน และมีพระราชดำริ ให้ก่อตั้งกลุ่มอาชีพต่างๆ สำหรับแม่บ้าน บ้านเขาตันหยง ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงต้องการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ เขาตันหยง เพื่อให้สร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงของประชาชนในพื้นที่ โดยต้องการให้มีรายได้เพิ่มขึ้น จึงได้จัดตั้งกลุ่มอาชีพต่างๆ ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาชีพทำผ้าบาติก ผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว รวมทั้งกลุ่มตัดเย็บ ที่คุณมะรอฟี มีส่วนเข้าไปช่วยดูแลและส่งเสริม เนื่องจากได้เล็งเห็นความสำคัญของสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างไว้ จึงได้สานต่องานของพระองค์ท่าน เพื่อเป็นการตอบแทนในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้
      คุณมะรอฟีฯ เริ่มจากการช่วยงานพี่ชาย คือ คุณซะดีซอฯ ผู้ทำงานรับใช้ใกล้ชิดในพระองค์ท่าน โดยเริ่มต้นจากการเป็นคณะกรรมการหลายชุด ไม่ว่าจะเป็นกรรมการศูนย์เด็กเล็ก กรรมการมัสยิด กรรมการของหมู่บ้าน  รวมทั้งประสานงานโครงการส่วนพระองค์ หลักๆ คือ เป็นผู้ประสานงานระหว่างสำนักงานโครงการส่วนพระองค์กับชุมชนในพื้นที่ และส่งเสริมให้กลุ่มต่างๆ รวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง
      ปัจจุบันกลุ่มตัดเย็บบ้านเขาตันหยง ก่อตั้งมาได้ ยี่สิบกว่าปีแล้ว มีรายได้หลัก จากการตัดเย็บชุดนักเรียน ส่งให้กับสวนจิตรลดา รวมถึงโรงเรียนและธุรกิจในพื้นที่ ซึ่งคุณมะรอฟี ได้ประสานหาเสื้อผ้าจากข้างนอกมาให้กลุ่มแม่บ้านได้ตัดเย็บสร้างรายได้ รวมถึงสอบถามทุกข์สุข ปัญหาที่เกิดขึ้น และในส่วนของการเป็นคณะกรรมการศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก บ้านเขาตันหยง คุณมะรอฟี มีโอกาสได้เข้ามาทำงานเป็นกรรมการช่วยงานศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ตั้งแต่เริ่มต้น ดูแลด้านการประชุมและพัฒนาโครงการขอทุน และมีโอกาสเข้าเฝ้าที่งานบุญกุโบร์ ที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ มีโอกาสกราบทูลท่าน เกี่ยวกับความคืบหน้าของโครงการศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เป็นโครงการในพระราชดำริของพระองค์ท่าน ซึ่งต่อมาในปี 2547 สำนักพระราชวัง ได้ถ่ายโอนโครงการให้กับองค์กรส่วนท้องถิ่น โดยมะรอฟี ยังคงมีความผูกพันและมีบทบาทเป็นที่ปรึกษาในการดูแลส่งเสริมแก้ไขปัญหาและประสานความร่วมมือ

      ตลอดเวลาการทำงาน คุณมะรอฟี ทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ เพื่อชุมชนส่วนรวม มีความภาคภูมิใจและมีความสุขที่มีส่วนทำให้ชุมชนบ้านเกิดเข้มแข็งและชาวบ้านอยู่ดีมีสุข ทั้งความภาคภูมิใจในรางวัลที่ได้รับและความภาคภูมิใจสูงสุด คือ โอกาสในการสานต่องานในพระราชดำริ และได้ถวายงาน เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ และคุณมะรอฟีและครอบครัวมีโอกาสถวายพระกระยาหาร งานบุญกุโบร์ ซึ่งพวกเขาได้ทำด้วยมือและถวายให้ท่านเสวย คุณมะรอฟี จึงถือเป็นรางวัลชีวิตและความภูมิใจอันสูงสุดแล้ว

เป็นแรงบันดาลใจ
      คุณมะรอฟี กล่าวอธิบายถึง แรงบันดาลใจอันสูงสุดของตัวเองว่า “ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จมาในรถยนต์แลนด์โรเวอร์คันเก่าๆ และเสด็จไปเยี่ยมเยียนชาวบ้าน เสด็จไปบ้านของชาวบ้านในใต้ถุนบ้าน ในครัว โดยไม่ถือพระองค์  เมื่อแรกๆ ที่ทรงเสด็จมานราธิวาส ชาวบ้านในพื้นที่ยังเรียกท่านว่า รายอซีแย หรือพระมหากษัตริย์ของไทย เป็นคำฝังใจของคนพื้นที่ในสมัยนั้น เพราะอยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางของประเทศ ไกลพระนคร ไกลกรุงเทพฯ เคยเห็นพระมหากษัตริย์แต่ในเหรียญ หรือในธนบัตร ว่านี่คือ พระมหากษัตริย์ของไทย แต่มาหลังๆ ชาวบ้านเปลี่ยนการเรียกขานพระองค์ท่านว่า รายอ คือ พระมหากษัตริย์ และในที่สุดหลังๆ กลายเป็น รายอกีตอ คือ พระมหากษัตริย์ของเรา หรือในหลวงของเรา”
      “เราเป็นชาวบ้านธรรมดา ถ้าเรายึดพระองค์ท่านเป็นแบบอย่าง ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่มีความไว้วางใจ ความน่าเชื่อถือ ความน่าศรัทธาในตัว ไปไหนๆ ใครก็รัก และสิ่งที่ทำ ไม่ได้ตอบแทนแค่ตัวคุณเอง มันจะตอบแทนครอบครัวของคุณ คนใกล้ตัวคุณ และเป็นแบบอย่างให้พวกเขา ตั้งปณิธานว่า ตราบใดมีลมหายใจ ร่างกายแข็งแรงดี ก็จะทำอย่างนี้ต่อไป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การได้สร้างความเข้าใจเรื่องทรัพยากรสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมอาชีพในชุมชน สร้างกระบวนการออม สร้างความรับผิดชอบในตนเองของคนนราธิวาส จะสร้างผลดีให้กับชุมชนพื้นที่จังหวัดนราธิวาสแห่งนี้”
      คำกล่าวที่ฝากไว้ทำให้เราสัมผัสถึงความตั้งใจของชายคนหนึ่ง ที่ทำงานอาสา เพื่อประชาชนจังหวัดนราธิวาสโดยการน้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการทำงานเพื่อบ้านเกิดของตัวเอง การมีบุคคลที่มีจิตใจเป็นจิตอาสาเช่นนี้ จึงควรได้รับการยกย่องและเผยแพร่ถึงความตั้งใจ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้คนในสังคมได้ลุกขึ้นมาทำสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และทุกพื้นที่ของประเทศไทยเรานี้ต่อไป

Comment
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.