บทบาทสตรีกับการส่งเสริมความมั่นคง อาสาสมัครทหารพรานหญิงชายแดนใต้

 15 ส.ค. 2560 20:00 น. | อ่าน 9428
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

      จากสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยที่ภาครัฐและหน่วยงานทหารให้ความสนใจ ปัจจุบันปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ได้ลดระดับความรุนแรงลง จากการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในระดับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานปกครองในระดับท้องถิ่น รวมถึงทหารและตำรวจที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ อีกหนึ่งยุทธวิธี ที่กองทัพบกเลือกใช้ คือ การให้อาสาสมัครทหารพราน ซึ่งเป็นคนในพื้นที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน เนื่องจากมีความชำนาญภูมิประเทศและเข้าใจขนบธรรมเนียมประเพณีลึกซึ้งกว่า โดยหน้าที่นี้ ไม่ได้มีเพียงแต่ผู้ชายเท่านั้น แต่ยังมีอาสาสมัครทหารพรานหญิง ที่มีจิตใจเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยวไม่แพ้ผู้ชาย จนได้รับสมญานามว่า ดอกไม้เหล็กชายแดนใต้
      นักรบดำหรือทหารพรานแห่งกองทัพบก มีจุดกำเนิดมาจากแนวคิดที่ว่า "ทหารพราน คือ อาสาของประชาชน" หรือ นักรบประชาชน" ในพื้นที่ของกองทัพภาคที่ 4 มีหลายหน่วยงานกระจายตัวอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ประกอบด้วย กรมทหารพรานที่ 41 ถึง 49 เพิ่มเติมด้วยกรมทหารพรานที่ 11, 22 และ 33  ซึ่งมีภารกิจทั้งงานยุทธการ งานข่าวกรอง และงานมวลชนสัมพันธ์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญต่อการเอาชนะกำลังของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนทัศนคติและความรู้สำนึกคิดของประชาชนในพื้นที่ เพื่อนำความสันติสุขกลับมาสู่พื้นที่ จชต.
      เมื่อประชาชนมีความเดือดร้อนทุกเรื่อง ทหารมีหน้าที่ต้องเข้าไปช่วยเหลืออยู่แล้ว แต่ภาพลักษณ์ของทหารพรานอาจจะดูดุดัน ในสายตาของคนทั่วไป ทหารพรานหญิง จึงมีบทบาทในการทำหน้าที่ ในเนื้องานที่มีความละเอียดอ่อน การดูแลเอาใจใส่และสร้างความเข้าใจ สามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนในพื้นที่ให้มีความเข้าใจในภารกิจหลักของทหาร นั่นคือ การช่วยเหลือประชาชน โดยส่วนใหญ่อาสาสมัครทหารพราน จะสมัครเข้ามาทำหน้าที่ด้วยจิตอาสา โดยเมื่อแรกเข้ามา จะได้รับการฝึกอบรมหลักสูตร ให้ความรู้กำลังพลทหารพรานใหม่ การฝึกอาสาสมัครทหารพรานหญิง ในขั้นแรก ก็จะฝึกหลักสูตรทหารพรานเบื้องต้น เช่น การเฝ้าระวัง การประชาสัมพันธ์ ทั้งนี้ ยังจะต้องฝึกทางยุทธวิธี เหมือนกับทหารพรานผู้ชายทุกประการ แต่อาสาสมัครทหารพรานหญิงยังจะต้อง "ฝึกหลักสูตรพิเศษ" เช่น การทำคลอด, การปฐมพยาบาลเบื้องต้น และการช่วยเหลือผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล

แรงบันดาลใจของดอกไม้เหล็ก
      
หนึ่งตัวอย่าง เรื่องราวของอาสาสมัครทหารพรานหญิง จากหลายร้อยพันเรื่องราว หลายหน่วยงานทหารพรานในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่กรมทหารพรานที่ 43 มีกำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่จนได้รับรางวัลที่น่าภูมิใจ ได้แก่ อส.ทพ.หญิง ฟาเดีย ดอมะ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการจิตวิทยา หมู่ ทพ.หญิง 418 มว.ทพ.หญิง 41 ด้วยความที่เธอเป็นคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น จึงเลือกที่จะเข้ามาทำหน้าที่อาสาสมัครทหารพรานหญิง ที่กรมทหารพรานที่ 43 แห่งนี้

      อส.ทพ.หญิง ฟาเดีย ดอมะ พื้นเพเป็นคนจังหวัดยะลา เมื่อเกิดเหตุการณ์ปี พ.ศ.2547 ได้สูญเสียน้า ที่เป็นครู  แม้จะมีความหวาดกลัวกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เมื่อในปี พ.ศ.2550 ได้ข่าวว่า ทางกองทัพบก เปิดรับสมัครอาสาทหารพรานหญิง ก็อยากลองไปสมัคร ถึงแม้ว่าครอบครัวจะห่วงว่าเป็นคนขี้โรค แต่ก็ตัดสินใจมาลองดู เมื่อเข้ามาก็ได้ฝึกตัวเอง ปรับสภาพร่างกายให้เข้มแข็งขึ้น ปัจจุบันบทบาทหน้าที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนการตั้งจุดตรวจ จุดสกัด สนับสนุนโครงการต่างๆ เช่น เป็นวิทยากร ให้ความรู้เรื่องพิษภัยของยาเสพติดกับเด็กๆ สนับสนุนการทำงานของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พบปะทำความเข้าใจ ดูแลคนป่วย คนแก่คนเฒ่า ได้พูดคุยกับชาวบ้าน รู้สารทุกข์สุขดิบของประชาชน เป็นสื่อกลางระหว่างประชาชนและผู้บังคับบัญชา สิ่งที่ทหารพรานหญิงมีมากกว่าทหารพรานชาย คือ ความอ่อนน้อม นุ่มนวล สามารถพูดคุยกับชาวบ้านได้เหมือนคุยกับคนในครอบครัวตนเอง เพราะความเป็นคนในพื้นที่ สามารถพูดภาษาท้องถิ่น
      ความภาคภูมิใจอย่างหาที่สุดมิได้ของ อส.ทพ.หญิง ฟาเดีย ดอมะ คือ การได้รับรางวัลสตรีดีเด่น ด้านการส่งเสริมความมั่นคงของประเทศ ประเภทอาสาสมัคร ปี พ.ศ.2558 จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของประเทศ เนื่องในวันสตรีสากล และจากรางวัลนี้เอง ส่งผลให้เรื่องราวของเธอ ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน 60 เรื่องราวของสตรีต้นแบบ ผู้ตามรอยเบื้องพระยุคลบาท สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทำเป็นสารคดีสั้นเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ ของพระองค์ท่าน ผู้ซึ่งเธอได้ยึดเป็นแรงบันดาลใจและแนวทางการทำงานมาใช้ในการดำรงชีวิตและปฏิบัติหน้าที่
      “สมเด็จพระเทพฯ ท่านเก่ง ทำงานได้หลายอย่าง ความสามารถก็เยอะ มีความรู้ ความอดทน มุ่งมั่น ไปทุกที่ที่ลำบาก ทุรกันดาร เราเป็นทหารยังไปได้ไม่ถึงขนาดท่าน ท่านพัฒนาไม่หยุดนิ่ง คิดตลอดทำยังไงให้ราษฎรอยู่ดีกินดี ทั้งการศึกษา สาธารณสุข ทั้งด้านอาชีพ ก็จะทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะทำไม่ไหว เพราะที่นี่เป็นบ้านเกิดของเรา แม้เป็นจุดเล็กๆ แต่เป็นส่วนหนึ่ง ที่ทำให้เหตุการณ์สงบลงได้เราก็ดีใจ”

      นี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างของดอกไม้เหล็กชายแดนใต้ หรืออาสาทหารพรานหญิง ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่แพ้ชายใด และเป็นที่ต้องการของหน่วยงานทหารและประชาชนในพื้นที่ โดยมีอยู่ในกรมทหารพรานหน่วยต่างๆ ทั้งในจังหวัดยะลา ปัตตานีและนราธิวาส  คุณสมบัติสำคัญของพวกเธอ คือ เป็นคนในพื้นที่ สามารถพูดภาษาท้องถิ่นได้ และพูดภาษาไทยได้ควบคู่กัน ด้วยอัธยาศัยท่าทีที่อ่อนโยน อ่อนหวาน ละเอียดอ่อน ประกอบกับความเข้าใจ และจิตใจที่แข็งแกร่งภายใน การที่เหล่าทหารพรานหญิงลงปฏิบัติการในพื้นที่ ในแต่ละวันนั้น พวกเธอไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่า จะพบเจอเรื่องดีหรือเรื่องร้าย รู้แต่เพียงว่า ทำเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน แม้ว่าจะต้องปฏิบัติงานที่เสี่ยงและหนักหน่วง เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย แต่ไม่เคยคิดทิ้งบ้านของพวกเธอไปไหน ด้วยความที่อยากให้บ้านของพวกเธอสงบสุข มุ่งมั่นปฏิบัติงาน โดยยึดเอายุทธศาสตร์พระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เน้นการแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยสันติวิธี ทุกคนในสังคม ควรมีโอกาสได้รับรู้เรื่องราวความเสียสละและหัวใจที่ยิ่งใหญ่ของพวกเธอ และร่วมส่งกำลังใจไปให้เหล่าทหารพรานหญิง และเหล่าผู้กล้าแห่งกองทัพบก ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละ เพื่อสร้างความสุขสงบให้กับผืนแผ่นดินไทย…

Comment
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.