รู้จัก "มินิ-ยูเอวี" อากาศยานไร้คนขับในภารกิจดับไฟใต้

 20 ธ.ค. 2557 00:19 น. | อ่าน 636
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

การประชุมติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันพุธที่ 17 ธ.ค.57 ซึ่งมี พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เสนาธิการทหารบก (เสธ.ทบ.) ในฐานะเลขาธิการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ลธ.รมน.) เป็นประธานนั้น นอกจากจะมีการรายงานเหตุรุนแรงรอบสัปดาห์ และการขับเคื่อนงานด้านการพัฒนาอื่นๆ แล้ว ยังมีอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ คือ การนำ "มินิ-ยูเอวี" หรือ "อากาศยานไร้คนขับขนาดเล็ก" มาใช้อย่างเต็มขีดความสามารถ ตามข่าวระบุว่า พล.อ.ฉัตรเฉลิม เน้นย้ำให้ใช้ "มินิ-ยูเอวี" ในภารกิจที่หลากหลายมากขึ้น ขณะที่ข่าวบางกระแสที่แพร่กันในสื่อสังคมออนไลน์ แชร์กันทำนองว่าจะใช้ "มินิ-ยูเอวี" ในการเก็บข้อมูลและการข่าว เพื่อรับมือการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและข่าวลือในพื้นที่ซึ่งใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์แทนการสื่อสารแบบ "ปากต่อปาก" ดังที่เคยใช้ ข่าวดังกล่าวก่อความสงสัยให้กับสังคม 2 ประการ คือ 1.หลายคนยังไม่ทราบว่าที่ชายแดนใต้มีการใช้อากาศยานไร้คนขับในภารกิจด้านความมั่นคงกันแล้ว หรือถ้าใช้แล้วใช้มานานแค่ไหน ใช้ในภารกิจอะไร เพราะที่ผ่านมามีข่าวเฉพาะ "บอลลูน" หรือ "เรือเหาะ" ที่จัดซื้อมาในราคา 350 ล้านบาทแต่กลับใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ และ 2.มินิ-ยูเอวี เกี่ยวอะไรกับการแก้ไขปัญหาข่าวลือ ทั้งปากต่อปากและโลกออนไลน์ พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวกับ "ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา" ว่า เรื่องการใช้ "มินิ-ยูเอวี" ในภารกิจด้านความมั่นคงชายแดนใต้นั้น ใช้มาระยะหนึ่งแล้ว โดยมีการจัดซื้อจากหลายหน่วย หลายครั้ง ส่วนเรื่องการแก้ไขปัญหาข่าวลือ น่าจะเป็นความเข้าใจผิดของคนที่เผยแพร่ข่าว เพราะ เสธ.ทบ.ไม่ได้พูดในแง่นั้น แต่เป็นการเน้นย้ำให้ใช้งานอากาศยานไร้คนขับขนาดเล็กอย่างให้เต็มขีดความสามารถในภารกิจที่หลากหลาย ส่วนเรื่องข่าวลือคงไม่เกี่ยวข้องกับการใช้อากาศยานประเภทนี้ "มินิ-ยูเอวี ใช้ในภารกิจด้านการลาดตระเวน เฝ้าตรวจ หาข่าว สอดแนม และตรวจสอบสภาพพื้นที่ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆ ก็เช่น การตรวจเส้นทางรถไฟก่อนที่รถไฟจะแล่นผ่าน เพราะทางรถไฟนั้นไม่ใช่ถนน รถของเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปวิ่งได้ และหากใช้กำลังพลเดินเท้าก็ต้องใช้เวลานาน จึงใช้มินิ-ยูเอวีขึ้นบินก่อน โดยที่ตัวอากาศยานจะมีการติดตั้งกล้องเอาไว้ เมื่อพบสิ่งผิดปกติก็จะบันทึกภาพแล้วรายงานกลับมายังหน่วยมอนิเตอร์ภาคพื้นดิน หน่วยก็จะแจ้งไปยังหน่วยใกล้เคียงให้เข้าตรวจสอบอย่างทันท่วงที นี่คือประโยชน์ของมินิ-ยูเอวี" พ.อ.บรรพต กล่าว ด้าน นายพริสร์ สมุทธสาร นักเขียนบทความด้านยุทโธปกรณ์ เจ้าของนามปากกา "Zenith" ประจำนิตยสารออนไลน์ Gun and Vest และอดีตล่ามทหารอเมริกัน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มินิ-ยูเอวี (Mini UAV) หรืออากาศยานไร้คนขับขนาดเล็ก เป็นยุทโธปกรณ์ทางทหารที่ถูกนำมาใช้ในภารกิจสอดแนมหาข่าว ช่วยสนับสนุนการทำงานของกำลังพลในการลาดตระเวน โดย Mini UAV มีขนาดเล็กกว่า UAV ทำให้กำลังพลเดินเท้าสามารถนำพาไปใช้งานได้ ทั้งนี้ การทำงานของ Mini UAV นั้น เจ้าหน้าที่จะส่งขึ้นไปบินอยู่บนอากาศบริเวณพื้นที่เป้าหมาย ที่ตัว Mini UAV จะมีกล้องสำหรับเก็บภาพ และจะส่งภาพกลับมายังผู้ควบคุมที่บังคับอยู่ในระยะไกลได้ สำหรับ Mini UAV เริ่มมีการนำเข้ามาใช้ในกองทัพตั้งแต่ปี 2555 เป็น Mini UAV รุ่น Raven RQ 11 B ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีใช้ในกองทัพสหรัฐ และกองทัพชาติพันธมิตร โดย Mini UAV รุ่นนี้เป็นรุ่นที่ถูกส่งไปใช้ในภารกิจด้านความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย Mini UAV รุ่น Raven RQ 11 B มีโครงสร้างขนาดเล็ก น้ำหนักเพียง 1.9 กิโลกรัม ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ บินต่อเนื่องได้ประมาณ 60 นาที เพดานบิน 1,000 ฟุต รัศมีการทำงาน 10 กิโลเมตร มีกล้องความคมชัดสูง สามารถเก็บภาพในเวลากลางคืนและตรวจจับความร้อนได้ ปัจจุบันกองทัพได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของยุทโธปกรณ์ชนิดนี้ จึงสนับสนุนการวิจัยเพื่อสร้าง Mini UAV ขึ้นมาใช้เอง อย่างไรก็ดี การนำอากาศยานไร้คนขับมาใช้ ทำให้ประชาชนบางกลุ่มที่เคยติดตามข่าวสารหรือชมภาพยนตร์ อาจกังวลว่าจะมีการติดอาวุธ แล้วใช้เป็นยุทโธปกรณ์โจมตีเหมือนที่เห็นในต่างประเทศหรือไม่ (การรบกับกลุ่มอัลกออิดะห์ และตาลีบัน หลายครั้งสหรัฐก็ใช้ยูเอวีติดปืนในการโจมตี) ประเด็นนี้ พริสร์ บอกว่า Mini UAV รุ่น Raven RQ 11 B ไม่สามารถนำไปติดอาวุธล่าสังหารได้ ส่วนที่เห็นในข่าวหรือภาพยนตร์นั้นเป็น UAV ขนาดใหญ่ และเท่าที่ทราบยังไม่มีใช้ในกองทัพไทย จึงขอให้หลายคนสบายใจได้ว่า Mini UAV ที่มีใช้อยู่ในบ้านเรา เป็นการใช้ในภารกิจหาข่าว ลาดตระเวน และตรวจสอบพื้นที่เท่านั้น สำหรับอากาศยานไร้คนขับ หรือ ยูเอวี ในภาษาอังกฤษ ย่อมาจาก Unmanned Aerial Vehicle ; UAV หมายถึงอากาศยานที่ควบคุมจากระยะไกล แบ่งได้กว้างๆ 2 แบบ คือ แบบควบคุมจากระยะไกล และแบบที่บินได้ด้วยตนเองโดยอาศัยการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจากวิกิพีเดีย ระบุว่า ยูเอวีมีรูปแบบการทำงานที่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่บังคับโดยรีโมท เน้นการสอดแนมเป็นหลัก มีบางส่วนที่ทำภารกิจด้านการขนส่ง วิจัยและพัฒนา ติดอาวุธเพื่อการโจมตี และใช้เพื่อการตลาดในกิจกรรมของพลเรือน จากการตรวจสอบย้อนหลังพบว่า เมื่อปี 2555 กองทัพบก (ทบ.) ในยุคที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้มีการจัดซื้อมินิ-ยูเอวี ยี่ห้อ "ราเวน" (Raven) จากประเทศอิสราเอล จำนวน 120 ระบบ ระบบละ 16 ล้านบาท รวม 1,920 ล้านบาท นอกจากนั้นกองทัพบกยังทำความร่วมมือทางด้านวิชาการกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เกี่ยวกับการผลิต มินิ-ยูเอวี ขึ้นใช้เอง รวมทั้งยุทโธปกรณ์อื่นๆ เช่น หุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิดด้วย ส่วนใหญ่ใช้สำหรับภารกิจด้านความมั่นคงชายแดนใต้ ------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------ ขอบคุณ : ภาพการฝึกใช้ มินิ-ยูเอวี รุ่น Raven RQ 11 B ของกำลังพลจากกองทัพภาคต่างๆ จากเว็บไซต์ http://thaidefense-news.blogspot.com/2012/03/raven-rq-11-b.html

ที่มา: isranews.org
Comment
Related
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.