แบกึ๋น กอ.รมน.แจงรากเหง้าไฟใต้ เงื่อนไข "ชนกลุ่มน้อย" - ธุรกิจเถื่อน"แหล่งทุน"

 04 ก.ค. 2557 21:18 น. | อ่าน 568
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

โครงสร้างดับไฟใต้ในยุค "คืนความสุข" ปฏิเสธไม่ได้ว่าบทบาทของกองทัพที่ขับเคลื่อนอยู่ในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) อยู่ในฐานะ "พระเอก" มุมมองต่อปัญหาภาคใต้ของ กอ.รมน.จึงนับว่าน่าสนใจ โดยเฉพาะความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงรากเหง้าของปัญหา เพราะจะนำมาซึ่งการกำหนดนโยบายอย่างถูกต้อง รายงานสรุปสถานการณ์ปัญหาและอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจัดทำโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปเมื่อต้นเดือน พ.ค.57 ก่อนการเข้าควบคุมอำนาจการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพียงไม่นาน มีเนื้อหาตอนหนึ่งเป็นมุมมองของฝ่ายความมั่นคงต่อรากเหง้าปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือความเห็นจากผู้แทน กอ.รมน. ทั้งนี้ กอ.รมน.มีความเห็นว่า รากเหง้าของปัญหามีที่มาจากการผนวกดินแดนรัฐปัตตานีเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสยาม จากสนธิสัญญากำหนดเขตแดนระหว่างสยามและอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.2452 ประกอบกับการปรับโครงสร้างทางการปกครอง โดยการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางในสมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากต้องการสร้างบูรณภาพเหนือดินแดนสยาม เพื่อป้องกันการรุกรานจากชาติตะวันตก ทำให้กลุ่มผู้ปกครองรัฐปัตตานีที่สูญเสียอานาจในการปกครองในฐานะประเทศราชเดิมไม่พอใจ กลุ่มผู้ปกครองรัฐปัตตานีเดิมได้พยายามต่อสู้ขัดขวางทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองตนเองเหมือนเดิมมาโดยตลอด และได้มีการพัฒนารูปแบบการเคลื่อนไหวมาเป็นขบวนการต่อต้านรัฐ โดยใช้การจัดตั้งแบบปิดลับ และในเวลาต่อมาได้แบ่งออกเป็นขบวนการย่อยๆ หลายกลุ่ม อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ยังไม่เคยปรากฏว่ามีกลุ่มหรือขบวนการใดออกมาอ้างความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นแม้แต่ครั้งเดียว นอกจากนี้ ยังไม่ปรากฏว่ากลุ่มหรือขบวนการใดสามารถยึดครองพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเพื่อใช้เป็นฐานที่มั่นในการต่อสู้กับรัฐตามรูปแบบของสงครามแบ่งแยกดินแดนทั่วไปเหมือนในภูมิภาคอื่นๆ ของโลก เงื่อนไขหลักของปัญหา กอ.รมน.มองว่า เป็นเงื่อนไขที่ใช้ในการสร้างความชอบธรรม โดยใช้ประเด็นเรื่องประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ และความเชื่อความศรัทธาในศาสนา ซึ่งเป็นจุดแข็งของสภาพสังคมในพื้นที่ ประดิษฐ์สร้างเป็นอัตลักษณ์เพื่อใช้เป็นเงื่อนไขสร้างความเป็นพวกเดียวกัน พร้อมๆ ไปกับการสร้างความรู้สึกแปลกแยกกับสังคมใหญ่ของประเทศ ซึ่งในอีกด้านหนึ่งก็มีความต้องการที่จะประกาศความมีตัวตนของกลุ่มตัวเองเพื่อแสดงให้สังคมทั้งภายในและภายนอกประเทศเห็นว่าเป็น "ชนกลุ่มน้อย" เพื่อให้เกิดความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวในเวทีต่างประเทศ นอกจากนั้นยังใช้บทเรียนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งเกิดจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ในอดีต มาตอกย้ำเรื่องการเป็น "ชนกลุ่มน้อย" เพื่อสร้างความเกลียดชังต่อเจ้าหน้าที่และกลุ่มบุคคลอื่นๆ ที่มีอัตลักษณ์แตกต่างไปจากพวกตนเอง ผ่านทางกระบวนการการบ่มเพาะเพื่อสร้างอุดมการณ์และค่านิยมในการต่อสู้โดยใช้ความรุนแรง จากบทเรียนของความขัดแย้งในภูมิภาคอื่นๆ ถือว่าเป็นการด้อยค่าเหยื่อไม่ให้อยู่ในฐานะเดียวกันกับพวกตนเอง โดยพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีวาทกรรมซึ่งเกิดจากกระบวนการผลิตซ้ำ ดังนี้ 1.การเรียกคนไทยพุทธทั้งในและนอกพื้นที่ว่า "ซีแย" และเรียกไทยมุสลิมว่า "นายู" เพื่อสื่อให้เห็นถึงการเป็นพวกเดียวกันของชนชาติที่มารุกราน (สยาม หรือ ซีแย) และยึดครองรัฐปาตานีในอดีต มีการใช้การปฏิบัติที่โหดร้ายทารุณกวาดล้างคนของรัฐปาตานี ซึ่งก็คือบรรพบุรุษของคนในพื้นที่ปัจจุบัน หรือ "พวกนายู" นั่นเอง 2.การปลูกฝังแนวความคิดเรื่องรัฐปัตตานีเป็นดารุลฮัรบ์ (หรือ ดารุลฮัรบี หมายถึง ดินแดนสงคราม) ที่ชาวมุสลิมทุกคนในประเทศ (ชาวมลายูปัตตานี) ต้องทำญิฮาด (ต่อสู้) ถือว่าเป็น "ฟัรดูอีน" (ศาสนบัญญัติ ภาคบังคับ) หรือ "วายิบ" (สิ่งที่จำเป็นต้องปฏิบัติ หากละเลยถือว่าบาป) อันเป็นผลมาจากการนำข้อมูลบางส่วนของประวัติศาสตร์มาร้อยเรียงเข้ากับหลักศาสนา เพื่อให้เกิดแรงศรัทธาและความชอบธรรมในการต่อสู้ตามวิถีที่ได้บัญญัติในศาสนา 3.การเรียกกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์เดียวกัน แต่ไม่เห็นด้วยหรือขัดขวางการเคลื่อนไหวของขบวนการ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผู้ที่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐว่าเป็น "มุนาฟิก" เพื่อสร้างภาพการเป็นคนกลับกลอก สับปลับ กล่าวเท็จ และมีพฤติกรรมเท็จ พฤติกรรมภายนอกไม่ตรงกับพฤติกรรมภายในจิตใจ ถือเป็นความเลวร้ายที่จะได้รับการลงโทษอย่างหนักจากพระเจ้า ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมในการกำจัดคนที่ไม่ให้ความร่วมมือ หรือร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ แม้จะมีอัตลักษณ์เดียวกัน ทั้งหมดคือเงื่อนไขหลัก ส่วน "เงื่อนไขสนับสนุน" เป็นเงื่อนไขที่ทำให้เงื่อนไขหลักมีพลังและความน่าเชื่อถือ เพื่อสร้างความชอบธรรมในการเคลื่อนไหว และสร้างแนวร่วมรุ่นใหม่ โดยได้นำประเด็นปัญหา "เชิงประจักษ์" ซึ่งเป็นสถานการณ์และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงมาขยายผลเพื่อให้เกิดผลต่อทัศนคติ และความรู้สึกของคนในพื้นที่ โดยมีปัญหาที่สำคัญ ดังนี้ 1.การด้อยพัฒนา แม้จะเป็นปัญหาร่วมของพื้นที่ชายขอบโดยทั่วไป แต่ในกรณีของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยสภาพที่ตั้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้ผู้คนรู้สึกถึงความแตกต่าง เมื่อเกิดการคิดเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นคนเชื้อสายเดียวกัน เป็นการตอกย้ำถึงความรู้สึกการเป็น "ชนกลุ่มน้อย" ที่ไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากรัฐบาลไทย 2.การด้อยโอกาสทางการศึกษา เนื่องจากคนในพื้นที่ให้ความสำคัญกับความรู้ทางศาสนามากกว่าความรู้ทางวิชาการตามวิถีของสังคมมุสลิม ในขณะที่ระบบการจัดการศึกษายังไม่สามารถตอบสนองเพื่อให้ผู้เรียนเกิดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาควบคู่ไปกับความรู้ทางด้านศาสนาได้อย่างสมดุล เกิดผลต่อการพัฒนายกระดับหรือเปลี่ยนแปลงฐานะทางสังคม 3.การไม่ได้รับการปฏิบัติโดยเท่าเทียม สืบเนื่องจากสภาพสังคมในพื้นที่ซึ่งมีวัฒนธรรม วิถีชีวิต และภาษาที่แตกต่างจากสังคมใหญ่ ทำให้เจ้าหน้าที่และข้าราชการในอดีต ซึ่งส่วนใหญ่ถูกส่งไปจากส่วนกลาง และบางส่วนเป็นผู้ที่มีความผิด ไม่มีความเข้าใจในวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่แตกต่าง โดยเฉพาะการสื่อสาร ซึ่งคนส่วนใหญ่นิยมใช้ภาษาถิ่น แต่ข้าราชการกลับฟังไม่เข้าใจ เหตุนี้จึงทำให้คนในพื้นที่รู้สึกอึดอัด ไม่กล้าไปติดต่อและขอรับบริการจากเจ้าหน้าที่ และในกรณีที่จำเป็นต้องเข้าไปติดต่อ ก็มักจะไม่ได้รับความสะดวกหรือได้รับการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม อันเนื่องมาจากความแตกต่างของภาษาและวัฒนธรรม จึงทำให้รู้สึกว่าไม่ได้รับการปฏิบัติเหมือนกับคนไทยพุทธซึ่งมีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตเหมือนกัน (กับข้าราชการ) 4.การไม่ได้รับความเป็นธรรม มีการนำเหตุการณ์ในอดีตหลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดจากข้อบกพร่องและความผิดพลาดในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งนำเหตุการณ์ที่ไม่สามารถสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดได้ เช่น กรณีการหายตัวไปของ หะยีสุหลง ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ผู้นำการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิในการปกครองของคนมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อปี พ.ศ.2498 รวมทั้งเหตุการณ์ที่เป็นเรื่องปกติในชีวิตประจาวัน เช่น การตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ เรื่องการเลือกปฏิบัติเฉพาะคนมุสลิม นอกจากนั้นยังมี "ปัญหาภัยแทรกซ้อน" เป็นปัญหาที่มีความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับปัญหาเรื่องการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งเป็นปัญหาหลัก ทั้งในแง่ของเงินทุนหมุนเวียนที่ใช้ในการเคลื่อนไหว การก่อเหตุของผู้ก่อเหตุรุนแรง ตลอดจนเป็นเครื่องมือช่วยใช้สร้างแรงจูงใจหรือโน้มน้าวเยาวชนให้เข้าร่วมกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ทั้งยังเป็นสาเหตุของคดีอาชญากรรมหลายๆ คดีในพื้นที่ ซึ่งล้วนแต่เป็นการซ้ำเติมสภาพปัญหาให้มีความซับซ้อน และเกิดภาพความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยมีปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งรัดแก้ไขเพื่อเกิดผลต่อการตัดการสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนี้ 1.ยาเสพติด มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับผู้ก่อเหตุรุนแรง และเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เนื่องจากภายหลังการจับกุมผู้ค้ารายใหญ่ มักเกิดเหตุการณ์รุนแรงเพื่อเป็นการตอบโต้ นอกจากนี้ ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการชักจูงเยาวชนให้เข้าร่วมกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง รวมทั้งใช้เป็นเครื่องมือสร้างแรงจูงใจในการก่อเหตุ ถูกสร้างเป็นเงื่อนไขว่าการระบาดของยาเสพติดในปัจจุบันเป็นผลมาจากเจ้าหน้าที่รัฐ 2.น้ำมันหลีกเลี่ยงภาษี มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงในเรื่องของการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนเพื่อใช้ในการเคลื่อนไหวและก่อเหตุรุนแรง 3.ธุรกิจผิดกฎหมาย มีความเกี่ยวข้องทั้งในฐานะที่เป็นแหล่งฟอกเงิน และสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนให้กับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง รวมทั้งการใช้อำนาจเงินจ้างวานให้ก่อเหตุรุนแรง เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มหรือกำจัดคู่แข่งทางธุรกิจ เมื่อรู้ทุกอย่าง เข้าใจปัญหาแทบทุกมิติเช่นนี้แล้ว ก็เหลือแต่ภาคปฏิบัติว่าจะทำให้สัมฤทธิ์ผลได้อย่างไร!

ที่มา: isranews.org
Comment
Related
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.