มุ่งสู่การสร้างคนดี เพื่อสังคมดี ตามวิถี…มัสยิดบ้านเหนือ

 04 มิ.ย. 2557 12:31 น. | อ่าน 3502
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

เรียบเรียงโดยนรินทร์ อินทร์ฉาย ผมเห็นว่า โอกาสที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะกลับคืนสู่ความสงบเรียบร้อยอีกครั้งหนึ่ง ถ้าทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนในทุกมิติโดยเฉพาะในมิติของความเชื่อทางศาสนา ซึ่งขอนำตัวอย่างที่ดีๆ ของชมรมมุสลิมภราดรภาพ ณ มัสยิดบ้านเหนือ ต.คูเต่า อ.หาดใหญ่ จว.ส.ข.เพื่อให้กลุ่มผู้นำศาสนาที่ปฏิเสธความรุนแรง และไม่เห็นด้วยกับแนวทางการต่อสู้ของขบวนการ ผกร. ได้ร่วมกันจัดตั้ง “ชมรมมุสลิมภราดรภาพ”ให้เป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนกำปงตักวาของชุมชน ด้วยการใช้หลักศาสนาเป็นทางนำใช้มัสยิดซึ่งเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนกำปงตักวาของชุมชน เพื่อสร้างพัฒนาศักยภาพของผู้นำมัสยิดให้เกิดศักยภาพในการขับเคลื่อนอุดมการณ์ “ตักวา”ตามหลักศาสนาอิสลามซึ่งจะก่อให้เกิดกระแสต่อต้าน ความรุนแรง และร่วมกันสร้าง “กำปงตักวา” อันถือเป็นการสร้างและนำเสนออุดมการณ์ด้านศาสนาที่บริสุทธิ์ เพื่อนำไปสู่การปฏิเสธอุดมการณ์ขององค์กรนำของ ผกร.ขับเคลื่อนให้เป็นชุมชนปฏิเสธความรุนแรง นำพาสังคมไปสู่สันติสุขในพื้นที่ จชต. งานพัฒนาของมัสยิดบ้านเหนือครอบคลุมปัจจัยการสร้างคนดี 3 ปัจจัย คือ คน สังคม และทรัพย์สิน แนวทางการสร้างคนให้เป็นบ่าวที่ดีของอัลลอฮฺ คนดีในทัศนะอิสลามต้องเข้าใจในเรื่องความดี มัสยิดบ้านเหนือจึงให้ความสำคัญกับการจัดการความรู้เพื่อสร้างคนดีเป็นอย่างสูง เริ่มตั้งแต่การวางรากฐานครอบครัวเพื่อทำหน้าที่หล่อหลอมคนให้เป็นคนดีตามวัตถุประสงค์ โดยกำหนดให้หนุ่มสาวที่จะแต่งงานต้องศึกษาหาความรู้เสียก่อน ทั้งความรู้เกี่ยวกับภาระหน้าที่ของสามีภรรยา หน้าที่ของพ่อแม่ในการเลี้ยงดูบุตรตามวิถีอิสลาม นอกเหนือจากการส่งเสริมคนในชุมชนให้เป็นพ่อแม่ที่ดีแล้ว มัสยิดบ้านเหนือยังทำหน้าที่เป็นสถาบันการศึกษาของชุมชนด้วย ทั้งการศึกษาสำหรับเด็กและการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่ โรงเรียนกัลป์ยาณชนรังสรรค์มัสยิดบ้านเหนือ คือสถาบันการศึกษาที่มัสยิดบ้านเหนือจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2551 ต่อยอดจากศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ ประจำมัสยิดบ้านเหนือ ซึ่งได้จัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2538 เพื่อทำหน้าที่ให้ความรู้และกล่อมเกลาเด็กๆในชุมชน ให้เติบโตเป็นคนดีตามแบบฉบับอิสลาม โรงเรียนนี้เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6นอกเหนือจากการสอนในโรงเรียนตามปกติแล้ว มัสยิดบ้านเหนือยังวางแนวทางให้เด็กๆผูกพันกับศาสนามากขึ้น โดยจัดการเรียนการสอนอัลกรุอานแก่เด็กๆ ทุกคืน เว้นวันศุกร์และวันจันทร์ใช้ช่วงเวลาระหว่าง มัฆริบกับอิชาอฺ โดยมีครูอาสาร่วมด้วยช่วยกันสอน ขณะที่การเรียนการสอนศาสนาในวันเสาร์ –อาทิตย์ สำหรับเด็กประถมวัย ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2525ก็ยังดำเนินต่อไป ในส่วนของผู้ใหญ่มีการ จัดการเรียนการสอนทุกสัปดาห์ โดยแบ่งเป็นสองช่วง คือ ช่วงคืนวันศุกร์สำหรับผู้ชายและเช้าวันศุกร์สำหรับผู้หญิง การเรียนการสอนในทุกช่วงเน้นนำเสนอองค์ความรู้อิสลามแบบบูรณาการ เกี่ยวกับหน้าที่ของมนุษย์ทั้งในด้านอิบาดะฮฺ อิมาเราะฮฺ และคิลาฟะฮฺ ในส่วนของวัยรุ่นมัสยิดบ้านเหนือใช้กีฬาเป็นตัวดึงดูดวัยรุ่นสู่มัสยิด นำสู่การปลูกฝังความคิดและอุดมการณ์ผ่านการให้ความรู้และสร้างจิตสำนึกในการดำเนินชีวิต นอกจากนี้มัสยิดได้จัดตั้งกองทุนวิชาการขึ้นเมื่อปี 2554 เพื่อสนับสนุนการผลิตผลงานทางวิชาการออกเผยแพร่ต่อบุคคลทั่วไป เช่น การพิมพ์หนังสือ และการจัดทำวีดีทัศน์ เป็นต้น รายได้จากการจำหน่ายผลงานเหล่านี้ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของกองทุน เพื่อใช้ในการผลิตผลงานทางวิชาการต่อไปเป็นทุนการศึกษาแก่นักเรียนนักศึกษาที่ประพฤติตัวดี อีกส่วนหนึ่งนำไปช่วยเหลือคนยากจนทั้งในรูปสวัสดิการและเงินสงเคราะห์รายเดือนแนวทางการสร้างคนดี ปัจจุบันอัตลักษณ์สังคมเมืองแผ่ปกคลุมในทุกหย่อมหญ้า สังคมชนบทกลายเป็นอดีตและผู้คนต่างยุ่งกับภารกิจของตนเองจนแทบไม่มีเวลาสนใจบุคคลอื่น คนในชุมชนมีความสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกมากกว่าเพื่อนบ้านของตน ก่อเกิดความเครียดและว่างเปล่าทางจิตวิญญาณ จนต้องเติมเต็มด้วยความบันเทิงหลากหลายรูปแบบ และแต่ละคนไม่มีเวลาที่จะคิดว่าตนเองมีชีวิตอยู่เพื่อ อะไร เพื่อปกป้องตนเองและป้องกันคุณค่าของความเป็นมนุษย์ มัสยิดบ้านเหนือจึงได้ดำเนินนโยบายส่งเสริมความดียับยั้งความชั่ว ตามบทบัญญัติแห่งอิสลามซึ่งครอบคลุมการทำงาน ๓ ด้าน คือ 1. การส่งเสริมความเข้มแข็งของมัสยิด 2. การสร้างความเป็นปึกแผ่นของชุมชน 3. การวางกฎระเบียบในชุมชน1) การส่งเสริมความเข้มแข็งของมัสยิด มัสยิดในอิสลามถือเป็นเสาหลักในการสร้างสังคมให้แข็งแกร่งมั่นคง จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการภายในให้มีความเข้มแข็ง หาไม่แล้วมัสยิดที่อ่อนแอก็จะทำให้สังคมอ่อนแอไปด้วย มัสยิดบ้านเหนือถือเอาการซูรอหรือการประชุมปรึกษาหารือ เป็นฐานสำคัญของการสร้างความเข้มแข็งแก่องค์กร โดยกำหนดให้มีการประชุมใหญ่อย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อเดือน ในการประชุมทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ แต่ต้องถือมติที่ประชุมหรือการตัดสินของอิหม่ามเป็นข้อยุติ การดำเนินงานของมัสยิดซึ่งเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของชุมชนยึดหลักความเป็นธรรม โปร่งใส และความเสียสละ ของบรรดาแกนนำทั้งหลายซึ่งช่วยให้การบริหารงานมีความเป็นปึกแผ่นและลดความเข้มข้นของผลประโยชน์ส่วนตัวลง2) การสร้างความเป็นปึกแผ่นของชุมชน ชุมชนจะเป็นปึกแผ่นได้ต้องมีจิตใจที่ภักดีและสังกัดต่อผู้ทรงอำนาจเพียงหนึ่งเดียว เมื่อมุสลิมต้องภักดีต่ออัลลอฮฺผู้ทรงเอกะเท่านั้น จึงจำเป็นอยู่เองที่จะต้องผูกพันกับมัสยิด องค์ประชุมของมัสยิดบ้านเหนือประกอบด้วย คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด และคณะบุคคลต่างๆที่มัสยิดจัดตั้งขึ้น เพื่อดำเนินงานตามที่ได้รับมอบหมาย รวมทั้งผู้นำท้องที่และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย ทำให้การประชุมในแต่ละครั้งมีผู้เข้าร่วมประชุมไม่ต่ำกว่า 40 คน ซึ่งเป็นบ้านของอัลลอฮฺอย่างแน่นแฟ้น มัสยิดบ้านเหนือดำรงสถานะเป็นศูนย์กลางของชุมชนทั้งในด้านการศึกษา สังคม เศรษฐกิจ การปกครอง และแม้แต่ในด้านสันทนาการ ความเป็นศูนย์กลางมิได้เกิดขึ้นอย่างบังเอิญ แต่มีปัจจัยหนุนเสริมที่สำคัญ คือ กิจกรรมการเป็นผู้ให้หรือกิจกรรมมือบน ซึ่งดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ตั้งแต่เริ่มการสร้างมัสยิดตั้งแต่ปี 2540 มาแล้ว คือกิจกรรมการดื่มน้ำชาที่มัสยิดในทุกๆวันศุกร์ เมื่อดื่มน้ำชาเสร็จแล้วก็ร่วมกันบริจาคกลายเป็นแหล่งที่มาหลักของรายได้ในการบริหารจัดการชุมชนมัสยิดบ้านเหนือการเป็นผู้ให้มิใช่เฉพาะเรื่องเงินเท่านั้น ในยามที่มัสยิดต้องการแรงงานคนที่บริจาคเงินเป็นประจำก็พร้อมที่จะให้แรงงานของตนเช่นกัน การเป็นผู้ให้เช่นนี้เองนำสู่ความสำเร็จในการขยายอาณาเขตและการก่อสร้างมัสยิดซึ่งต้องใช้งบประมาณถึง 30ล้านบาท แทบทั้งหมดเป็นเงินของชาวชุมชนเอง และไม่เคยมีการจัดงานการกุศลเพื่อขอรับบริจาคจากบุคคลหรือองค์กรภายนอกเลย ในสังคมบริโภคนิยมการเป็นผู้ให้หากไม่เห็นค่าตอบแทนของการให้เป็นเม็ดเงินหรือวัตถุสิ่งของต่างๆ ก็ยากที่จะมีผู้ใดปฏิบัติ แต่การเป็นผู้ให้ของผู้คนในชุมชนมัสยิดบ้านเหนือ ยังยืนหยัดท้าทายกระแสบริโภคนิยมอยู่ได้ ก็เพราะความศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ที่ทำให้ตระหนักว่าการให้ย่อมมิใช่การเสียทรัพย์ แต่นั่นคือ การรักษาทรัพย์ให้เป็นของตนตลอดไปเพราะผู้รับที่แท้จริงมิใช่ใครอื่นหากแต่คืออัลลอฮฺผู้ที่จะทรงตอบแทนการให้นั้นด้วยผลรางวัลที่มากกว่าการให้นับร้อยเท่าพันทวี สิ่งที่จรรโลงความศรัทธาและช่วยให้สังคมยืนหยัดอยู่ได้ท่ามกลางกระแสบริโภคนิยมที่เชี่ยวกราด คือ การละหมาดญะมาอะฮฺ ที่มัสยิด มัสยิดบ้านเหนือกำหนดให้ผู้ชายที่บรรลุ ศาสนภาวะแล้วต้องมีส่วนร่วมในการละหมาดญะมาอะฮฺและถือว่าการกระทำให้ละหมาดญะมาอะฮฺเสียหาย การพนัน การขาย หรือเสพสิ่งเสพติดเป็นความผิดที่ต้องถูกลงโทษทางสังคม และเพื่อปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ระเบียบบริหารกิจการมัสยิดบ้านเหนือห้ามการประกอบอาชีพที่ทำลายทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย เช่น อวนรุน อวนลากหรือยาเบื่อ และเอาผิดกับผู้ที่ประกอบอาชีพเช่นนั้นแนวทางการจัดการทรัพย์สินในชุมชน มัสยิดบ้านเหนือจัดการทรัพย์สินในชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์ ๒ ประการ คือ 1.การจัดการทรัพย์สินเพื่อคนและสังคมที่ดี 2.การจัดการทรัพย์สินเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี1) การจัดการทรัพย์สินเพื่อคนและสังคมที่ดีได้แก่การจัดให้มีระบบซะกาตเกิดขึ้นในมัสยิดโดยรณรงค์ส่งเสริมให้ผู้ที่มีทรัพย์สินครบพิกัด จ่ายซะกาตกับมัสยิดเพื่อที่มัสยิดจะได้ดำเนินการมอบให้แก่ผู้มีสิทธิ์รับตามหลักการศาสนาต่อไป ปัจจุบันกองทุนซะกาต ของมัสยิดบ้านเหนือมีรายได้จากซะกาต เฉลี่ยปีละ 250,000บาท ซะกาตเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นทุนการศึกษาแก่นักเรียนนักศึกษาที่ประพฤติตัวดี อีกส่วนหนึ่งนำไปช่วยเหลือคนยากจนทั้งในรูปสวัสดิการและเงินสงเคราะห์รายเดือน ขณะเดียวกันมัสยิดบ้านเหนือก็จัดให้มีงานออมทรัพย์มัสยิดบ้านเหนือขึ้น เพื่อทำหน้าที่เป็นสถาบันการเงินประจำชุมชน โดยระดมเงินฝากทั้งประเภทออมทรัพย์และประเภทลงทุน ให้มารวมตัวกันที่มัสยิดสำหรับเป็นแหล่งลงทุนในการประกอบกิจการงานของสมาชิก ปัจจุบันมีเงินไหลเวียนผ่านงานออมทรัพย์ของมัสยิดบ้านเหนือร่วม 1,000,000บาทต่อเดือน นอกจากนี้ยังจัดสวัสดิการของคนในชุมชน โดยเปิดกองทุนสวัสดิการในมัสยิด ดำเนินงานในรูปแบบของการรับสมัครสมาชิกเพื่อทำการบริจาคเดือนละ 50บาท รวมเป็นกองทุนเพื่อช่วยเหลือกันยามเจ็บไข้ได้ป่วย ประสบอุบัติเหตุ หรือประสบภัยพิบัติต่างๆด้วย ขณะที่การทำ เศาะดะเกาะฮฺญาริยะฮฺผ่านการเลี้ยงน้ำชาวันศุกร์ที่มัสยิด รวมทั้งการเศาะดะเกาะฮฺในวาระโอกาสต่างๆทางศาสนาก็ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและนำมาซึ่งการสร้างสรรค์คุณูปการต่างๆ มากมายในชุมชน2)การจัดการทรัพย์สินเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีชุมชนมัสยิดบ้านเหนือก็คล้ายกับชุมชนประมงทั่วไปมีสภาพค่อนข้างแออัดและบ้านหลายหลังปลูกสร้างรุกล้ำลำคลองหรือลำรางสาธารณะก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมามากมาย มัสยิดบ้านเหนือพยายามให้ความรู้และสร้างสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชน รวมทั้งรณรงค์ให้เลิกทิ้งขยะลงคลองจนนำมาซึ่งพัฒนาการด้านสิ่งแวดล้อมอันสำคัญ คือ การรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำคลองพร้อมกับการปลูกต้นไม้แทนที่สิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ทำให้สภาพแวดล้อมในชุมชนดีขึ้นกว่าเดิมมาก ขณะที่บริเวณมัสยิดเองก็มีการจัดภูมิทัศน์ให้สวยงามมากขึ้น มีต้นไม้ให้ความร่มรื่นและมีสนามสำหรับการเล่นกีฬาของเด็กๆ ซึ่งทำมัสยิดกลายเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของพวกเขาไปด้วยนอกจากนี้ยังมีการจัดระบบโฮมสเตย์สำหรับผู้มาทัศน์ศึกษาที่มัสยิดและประสงค์จะพักค้างคืนโดยมีบ้านร่วมยี่สิบหลังพร้อมรองรับเจ้าของบ้านจะลงทะเบียนกับมัสยิดและมัสยิดจะได้รับค่าที่พักแต่ละครั้ง ร้อยละ ๓๐ ที่เหลือมอบแก่เจ้าของบ้าน ระบบดังกล่าวนี้ทำให้ทรัพย์สินของชาวชุมชนกับมัสยิดมีความผูกพันกันแน่นแฟ้นมากขึ้นมัสยิดบ้านเหนือมีความมุ่งมั่นที่จะนำสังคมไปสู่จุดหมายทั้งสามนี้ จึงดำเนินการต่างๆภายใต้คำขวัญ“สร้างคนดี เพื่อโลกนี้และโลกหน้า”

ที่มา: deepsouthwatch.org
Comment
Related
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.