เสียงจากผู้แพ้ "เพชรดาว โต๊ะมีนา" ลง ส.ว.เที่ยวนี้เพื่อกู้ศักดิ์ศรีและดูแลประชาชน

 08 เม.ย. 2557 09:01 น. | อ่าน 595
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

รู้ผลกันไปแล้วสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยที่ จ.ปัตตานี ผู้สมัครจากตระกูลดังอย่าง เพชรดาว โต๊ะมีนา กลายเป็นผู้ปราชัย เพชรดาว หรือ โซไรดา ซึ่งคนในพื้นที่เรียกกันติดปากว่า "หมอจอย" นั้น เป็นผู้หญิงคนเดียวที่ลงสู่สนามเลือกตั้ง ส.ว.ในสามจังหวัดชายแดน เธอเป็นลูกสาวคนโตของ เด่น โต๊ะมีนา นักการเมืองชาวปัตตานีผู้โด่งดังในฐานะหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มวาดะห์ และเคยเป็นรัฐมนตรีหลายกระทรวง รวมทั้งเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย หรือแม้กระทั่ง ส.ว.ปัตตานี จากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ด้วยความเป็นลูกสาวของ เด่น โต๊ะมีนา ทำให้หลายคนแทบไม่เชื่อว่า เพชรดาว จะพ่ายแบบไม่มีลุ้นเช่นนี้ เพราะตัวของเธอเองก็ทำงานให้กับพี่น้องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่น้อย โดยในฐานะ "หมอ" เธอเป็นผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข รับผิดชอบ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ในฐานะ "ผู้หญิง" เธอทำงานด้านเครือข่ายสตรีและเด็ก ในฐานะ "คนพื้นที่" เธอก็ทำงานด้านเยียวยากับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ ทั้งยังเป็นหนึ่งในคณะที่ปรึกษาผู้อำนวยการคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.จชต.) ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย สมัยที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง นั่งเป็น ผอ.ด้วย เพชรดาว เปิดใจให้สัมภาษณ์กับ "ทีมข่าวอิศรา" ถึงการตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งหนนี้ แม้จะเป็นการพูดคุยกันก่อนจะรู้ผลเลือกตั้ง เพราะช่วงนั้นนำเสนอไม่ได้เนื่องจากติดปัญหาข้อกฎหมาย "ห้ามหาเสียง" ในการเลือกตั้ง ส.ว. แต่บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ก็ยังไม่ล้าสมัย เพราะทำให้มองเห็นถึงเหตุผลเบื้องหลังการก้าวเข้าสู่สนามการเมืองของ "หมอจอย" รวมทั้งความตั้งใจของเธอหากได้รับตำแหน่ง และยังมีบางแง่มุมที่สามารถอธิบายถึงผลการเลือกตั้งด้วยว่า ทำไมเธอจึงกลายเป็น "ผู้แพ้" O ตัดสินใจลงสมัคร ส.ว.ครั้งนี้ด้วยเหตุผลอะไร จริงๆ เพิ่งตัดสินใจเมื่อปลายเดือน ก.พ.นี้เอง พ่อถามว่ามีเงินอยู่เท่าไหร่ หมอก็บอกว่ามีเงินเก็บจำนวนหนึ่ง แล้วพ่อให้รวมญาติเพื่อถามความเห็นและขอความช่วยเหลือ ซึ่งญาติๆ เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ก็เห็นด้วย เพราะสิ่งที่ตระกูลโต๊ะมีนาถูกกลั่นแกล้งมาทุกรัฐบาล คือ ข้อหาแบ่งแยกดินแดน ซึ่งโดนมาตั้งแต่สมัยคุณปู่ (ฮัจญีสุหรง โต๊ะมีนา) จนมาถึงรุ่นพ่อ ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นหัวหน้า หากมีคนของโต๊ะมีนาได้เข้าไปทำงาน จะทำให้เขาได้รู้ถึงตัวตนของคนชายแดนใต้ ขนาดพ่อเป็น ส.ส.มาถึง 8 สมัย ทำงานในรัฐสภามาตลอดยังถูกกล่าวหา ทั้งที่เป็นหลักฐานเท็จ พ่อต้องต่อสู้เพื่อคนมลายู ผลักดันการคลุมฮิญาบ การก่อตั้งธนาคารอิสลาม จึงคิดว่าหากหมอได้รับการยอมรับได้เข้าไปเป็น ส.ว.จะสามารถทำหน้าที่ที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องมุสลิมทั้งประเทศได้ O มุสลิมะฮ์ (หญิงมุสลิม) ลงเลือกตั้งระดับนี้ขัดกับหลักการศาสนาอิสลามหรือไม่ ได้เรียนรู้ว่าผู้หญิงมุสลิมกับบทบาททางการเมืองยังไม่ค่อยเด่นชัด ผู้หญิงไม่ใช่ผู้นำ แม้หมอจะแย้งด้วยการนำใบรับรองจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีมายืนยันว่า ตำแหน่ง ส.ว.ไม่ใช่ผู้นำ แต่เป็นผู้แทนในพื้นที่ ก็ยังไม่ได้ผล เพราะบริบทของพื้นที่ ตลอดจนขนบธรรมเนียม และวิถีวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงลำบาก ถ้าพูดตามสภากาแฟจะมีการบอกว่าอย่าเลือกให้ผู้หญิงเป็นผู้นำ แต่เราต้องทำในฐานะเป็นมุสลิม ทำให้ ส.ว.และ ส.ส.มุสลิมมารวมกันให้เป็นเอกภาพ เพื่อเป็นปากเสียงให้สังคมมุสลิมได้ จริงๆ ในเรื่องนี้ทางคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีได้มีคำชี้แจงเรื่องมุสลิมะฮ์สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ว. และ ส.ส.ได้ เมื่อวันที่ 17 เม.ย.2542 โดยคณะผู้ทรงคุณวุฒิด้านศาสนาอิสลาม (ลิจนาตูลอูลามา) ประชุมวินิจฉัยและได้มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ตัวแทนประชาชน ซึ่งหมายถึง ส.ส. และ ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญใหม่ (รัฐธรรมนูญปี 2540) จะมีฐานะเป็นผู้แทนประชาชน ไม่ใช่ผู้นำประชาชน ฉะนั้น มุสลิมะฮ์ จึงลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ว.และ ส.ส.ได้ ไม่ขัดกับหลักศาสนาอิสลาม หากผู้หญิงได้เป็น ส.ว.จะทำให้มีปากมีเสียงมากขึ้น ประกอบกับสมัยนี้สังคมเปิดกว้างมากขึ้นสำหรับผู้หญิงที่มีความรู้จริงและสามารถทำงานได้อย่างมีคุณภาพ ดีกว่าเลือกผู้ชายที่ไม่มีคุณภาพเข้าไป O จำได้ว่าเคยลงสมัคร ส.ส.มาแล้วครั้งหนึ่ง และไม่ได้รับการเลือกตั้ง คิดว่าเป็นเพราะสาเหตุอะไร และการลงสมัคร ส.ว.ครั้งนี้มีความตั้งใจจะทำอะไร เมื่อ 8 ปีที่แล้วที่ลงมาทำงาน หมอยังไม่เป็นที่รู้จักของคนในพื้นที่แต่ได้ลงสมัคร ส.ส. ทำให้พลาดไป แต่วันนี้หมอทำงานในพื้นที่มาเกือบสิบปี ยังขยับได้ประเด็นเดียวคือเด็กและผู้หญิง เรารู้ว่าหากจะทำให้พื้นที่สงบได้ ต้องทำในประเด็นเด็ก แต่จากการประสานงานมาตลอดกลับไม่เกิดผล แต่ละกระทรวงก็ให้ความสำคัญกับงานของตัวเอง แต่งานเยียวยาจิตใจต้องร่วมมือกันทำ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ แต่ละหน่วยงานทำกันไปและซ้ำซ้อนกัน ไม่มีการคิดมาจากข้างบน (ระดับนโยบาย) เลยว่าสถานการณ์ความรุนแรงเกิดมา 10 ปีแล้วจะทำอย่างไรกับเด็กที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ ไม่มีการมองในระยะยาว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เองก็ไม่มีประเด็นเรื่องภาคใต้อย่างชัดเจน คณะกรรมการอยู่กรุงเทพฯ ไม่กล้าลงมาในพื้นที่ จริงๆ แล้วมีคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติประจำจังหวัด มีงบประมาณทุกอย่าง แต่ไม่คิดทำอะไร มองเป็นงานประจำ ซึ่งจริงๆ ต้องมีรูปแบบใหม่ที่เหมาะกับพื้นที่ ประเด็นเด็กและผู้หญิงที่ชายแดนใต้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ บางครั้งการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีก็มีผลอย่างมาก ทำให้งานไม่ต่อเนื่อง 10 ปีที่ผ่านมาเป็นแค่งานอีเวนท์ (คล้ายกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อสร้างกระแสเป็นพักๆ) หรืองานเฉพาะหน้าที่ทำแล้วจบไป ไม่มีความต่อเนื่อง จนเด็กกำพร้าเพิ่มจำนวนเป็น 5 พันกว่าคนในขณะนี้ ไม่มีการรวบรวมข้อมูลที่เป็นเอกภาพว่าเราให้ทุนการศึกษาได้กี่คน ให้ทุนได้ถึงระดับไหน รวมทั้งวัฒนธรรมของผู้หญิงในพื้นที่ที่ไม่ได้ทำงานนอกบ้านหรือรับผิดชอบงานมาก่อน เมื่อสูญเสียเสาหลักของครอบครัวไป ทำให้เกิดหญิงหม้ายเพิ่มขึ้นทุกวัน ขณะนี้เรามีชมรมผู้หญิงหม้าย 33 ชมรม ต้องมีการกระตุ้นให้แต่ละกลุ่มมีความเข้มแข็ง ซึ่งบางส่วนแข็งแรง สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง ตลอด 9 ปีที่ผ่านมาหมอช่วยเหลือกลุ่มแม่หม้ายกว่า 6,000 คน รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้กรมสุขภาพจิตสามารถวางระบบการทำงานด้านรักษาเยียวยาจิตใจ กระทั่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้มีนักจิตวิทยาประจำทุกโรงพยาบาลในสามจังหวัดชายแดนใต้จำนวน74 คน เรื่องเด็กเป็นงานที่ยากมาก อยากให้มีการดูแลอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะด้านการศึกษา รัฐไม่เยียวยาอะไรให้ก็ไม่เป็นไร แต่การศึกษาต้องให้ทุกคน เพราะเป็นรากฐานที่จะบ่มเพาะคนขึ้นมา ขณะนี้มีเด็กที่ได้รับการเยียวยา 6,000 คน แม้รัฐให้การศึกษา แต่อยากให้รัฐมีระบบการติดตามดูแลและประเมินผลอย่างใกล้ชิดจนกว่าจะจบการศึกษาและมีงานทำด้วย แต่ตอนนี้รัฐทำเพียงให้เงินแบบให้แล้วให้เลย โดยไม่มีการประเมินว่าสิ่งที่รัฐให้ไปคุ้มค่าไหม การเยียวยาต้องทำอีกนาน โดยเฉพาะกับเด็กๆ ที่ต้องปลูกฝังบ่มเพาะเรื่องดีๆ ให้เขา เพราะอนาคตของเราฝากไว้ที่เขา ถ้าเด็กเหล่านี้เติบโตขึ้นไปเป็นคนดี เชื่อว่าอีกไม่นานชายแดนใต้ของเราจะกลับมาสันติสุขดังเดิม O หากรับการไว้วางใจจากพี่น้องในพื้นที่ คิดว่าจะทำหน้าที่ ส.ว.ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ได้ในเรื่องใดบ้าง ในฐานะ ส.ว.มีหน้าที่ต้องตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) เราก็สามารถเชิญรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้ลงมาดูในพื้นที่ได้ นอกจากนั้นวุฒิสภาก็มีบทบาทกลั่นกรองกฎหมาย มีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับอิสลามยังค้างอยู่ที่ต้องมีการพูดคุยผลักดันกันต่อให้เป็นรูปธรรม ทั้งร่าง พ.ร.บ.ซะกาต ฮัจญ์ และเรื่องอาหารฮาลาล ซึ่ง ส.ส.และ ส.ว.มุสลิมควรร่วมกันผลักดัน และในความเป็นผู้หญิงที่เคยทำงานมา สามารถประสานเรื่องนี้ได้ หาก ส.ส.และ ส.ว.ชายแดนใต้รวมกันเป็นกลุ่มก้อน จะสามารถผลักดันในหลายเรื่องได้ เมื่อประชาชนเลือกมาต้องทำประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- บรรยายภาพ : 1 ป้ายหาเสียงของหมอเพชรดาว 2 เพชรดาว โต๊ะมีนา หรือ "หมอจอย"

ที่มา: isranews.org
Comment
Related
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.