คอลัมน์: เดินหน้าชน: พลังงาน..วิกฤตซ้ำซ้อน

 21 มิ.ย. 2560 04:00 น. | อ่าน 8
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

สัญญา รัตนสร้อย

ความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศมีเงื่อนปมที่ สั่นคลอนและเสี่ยงจะเกิดวิกฤตอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ และที่ อ.เทพา จ.สงขลา ทำให้แผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่ง ต้องรีสตาร์ตในการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ทำให้ต้องล่าช้าออกไปจากแผนเดิมถึง 4 ปี

เกี่ยวเนื่องกับปมการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียม 2 แหล่ง คือ "เอราวัณ" และ "บงกช" ที่จะหมดอายุใน ปี 2565 และปี 2566 ตามลำดับ

กระทรวงพลังงานตั้งเป้าไว้ว่าต้องเปิดประมูลใหม่ทั้ง 2 แหล่งภายในเดือนกรกฎาคมนี้ และต้องประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูลไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ 2561 แต่ก็ยังมีบางกลุ่มที่ยังขัดแข้งขัดขาเพื่อจะไม่ให้การประมูลเกิดขึ้น

หากการประมูล 2 แหล่งปิโตรเลียมยืดเยื้อออกไป ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจาก 2 แหล่งนี้ ที่มี 2,214 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน หรือ 76% ของปริมาณการผลิตก๊าซในอ่าวไทยจะลดหายไป

ปริมาณก๊าซธรรมชาติที่หายไปนี้จะส่งผลต่อการผลิตไฟฟ้าของประเทศถึง 13,623 ล้านหน่วย เท่ากับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขนาด 1,700 เมกะวัตต์

เมื่อโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะช่วยกระจายความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในภาคใต้ถูกเลื่อนออกไป ขณะที่ก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของประเทศก็จะลดหายไป ดังนั้นภาคใต้จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดไฟฟ้าดับ

ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ต้องหารือแผนงานเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสภาวะวิกฤตก๊าซธรรมชาติ ปี 2564-2566

แผนรับมือวิกฤตดังกล่าว อาทิ นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) มาทดแทนก๊าซธรรมชาติที่หายไป ต้องเจรจากับมาเลเซียเพื่อนำก๊าซจากแหล่งพัฒนาร่วมไทยมาเลเซีย (เจดีเอ) เพื่อใช้ผลิตที่โรงไฟฟ้าจะนะ 3 กำลังผลิต 700-1,000 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับการขาดแคลนไฟฟ้าในภาคใต้

รวมถึงเจรจารับซื้อไฟฟ้าจากลาว พม่า กัมพูชา และมาเลเซีย และอาจต้องใช้น้ำมันดีเซลมาปั่นไฟฟ้าแทน ที่จะมีต้นทุนสูงกว่า 3-5 เท่า

แค่ปมเงื่อนนี้ก็ทำให้ความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศมีความเสี่ยงสูงแล้ว แต่ล่าสุดมีเรื่องที่เพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นไปอีก

เป็นผลจากคำสั่งศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่ให้เพิกถอนระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) ที่ยินยอมให้นำทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ไปใช้ประโยชน์ตามกฎหมายอื่น

ทำให้ 7 บริษัทที่ได้สัมปทานขุดเจาะและผลิตปิโตรเลียมต้องหยุดกิจการชั่วคราว

การหยุดการผลิตดังกล่าวคาดว่าจะทำให้ปริมาณน้ำมันดิบหายไป 16,000 บาร์เรล/วัน ก๊าซธรรมชาติลดลง 110 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ก๊าซธรรมชาติเหลวลดลง 100 บาร์เรล/วัน รวมมูลค่ากว่า 47 ล้านบาทต่อวัน

ส่งผลให้รัฐสูญเสียรายได้จากค่าภาคหลวงและภาษี เงินได้ปิโตรเลียมกว่า 26 ล้านบาท/วัน รวมถึงค่าภาค หลวงที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 3.55 ล้านบาท/วัน ต้องหายไป

หยุดผลิตไปกี่วันก็คูณเข้าไปว่าปริมาณน้ำมันดิบ-ก๊าซธรรมชาติ-ก๊าซธรรมชาติเหลวจะหายไปเท่าไร และรายได้สูญไปมากน้อยแค่ไหน

ดังนั้นจึงมีเหตุผลเพียงพอที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. จะประกาศใช้มาตรา 44 เพื่อแก้ปัญหาการใช้พื้นที่ ส.ป.ก.ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ที่จะช่วยลดวิกฤตความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ไปอีกเปลาะหนึ่ง

แม้จะยังมีอีกหลายเปลาะซึ่งเป็นวิกฤตซ้ำซ้อนที่จะต้องรีบดำเนินการเพื่อไม่ให้ประเทศต้องเสี่ยงกับความไม่แน่นอนในการจัดหาพลังงานต่างๆ--จบ--

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

Comment
Related
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.