จากมือล่างสู่มือบน จากผู้ได้รับผลกระทบสู่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนแห่งชายแดนใต้

 13 มิ.ย. 2561 19:14 น. | อ่าน 3237
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

      จากสถานการณ์ความไม่สงบพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ประชาชนมีความคิดเห็นต่อเหตุการณ์นี้แตกต่างกันไป เป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และขั้นตอนการดำเนินงานในการสร้างความเข้าใจไม่ใช่เพียงหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ภาครัฐหรือภาคเอกชนหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นทุกฝ่ายที่ต้องทำงานบูรณาการร่วมกันเพื่อสร้างประโยชน์สุขให้กับประชาชนในพื้นที่ หนึ่งในนั้นมีบุคคลคนธรรมดาคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาเป็นแกนนำสตรีทำหน้าที่ตัวกลางคอยประสานงานระหว่างภาครัฐ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชน เป็นแค่คนธรรมดาที่อยากให้สันติสุขเกิดขึ้นในพื้นที่ ในบทบาทของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนแห่งชายแดนใต้
      คอลีเยาะ หะหลี เป็นชาวบ้านส้ม ตำบลควนโนรี อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เติบโตมาในครอบครัวชาวมุสลิมที่มีบริบทเหมือนกับครอบครัวทั่วๆ ไป ที่มีพี่น้องหลายคน และฐานะยากจน คอลีเยาะต้องช่วยงานบ้าน ดูแลน้อง เสียสละให้น้องๆ ได้เรียนหนังสือ แม้ว่าตัวเองอยากจะเรียนแค่ไหนก็ทำได้แค่ประคับประคองตัวเองจนเรียนจนจบประถม 6
ความสูญเสียครั้งใหญ่ในชีวิต

      ในปี พ.ศ.2547 คอลีเยาะในวัย 20 ปี ต้องสูญเสียผู้เป็นบิดา นายมะแอ หะหลีในเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต การสูญเสียพ่อผู้เป็นเสาหลักในครอบครัวส่งผลให้ชีวิตธรรมดาของเด็กสาวคนหนึ่งต้องเปลี่ยนแปลงไป จากความไม่เป็นธรรมที่พบเจอเป็นเหตุให้ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ และเรียกร้องความยุติธรรมให้กับครอบครัว ทั้งที่จบแค่ ป.6 และไม่มีความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนเลย เธอต่อสู้โดยไม่สนใจว่าหนทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ไปเข้าร่วมทุกเวที ต่อสู้เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้คนที่สูญเสียจากเหตุการณ์ได้รับการเยียวยา
      การที่คอลีเยาะได้ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมโดยใช้เวทีของหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อพูดคุยเรื่องสันติภาพในพื้นที่ ทำให้เธอได้มีโอกาสทำงานกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐมากขึ้น เป็นเหตุให้ความรู้สึกแง่ลบต่อเจ้าหน้าที่ภาครัฐ จากความรู้สึกไม่พอใจ น้อยใจ โกรธเกลียด มีอคติต่อเจ้าหน้าที่รัฐ เปลี่ยนไปเป็นมุมมองที่ดี มาร่วมกันคิด มาจับมือทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขและพัฒนาไปข้างหน้า เมื่ออดีตไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้แล้ว และที่สำคัญคือการที่คอลีเยาะก้าวเข้ามาบทบาทในการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับภาคประชาชน
จากมือล่างสู่มือบน
เวลาผ่านมา 13 ปี ลึกๆ ทุกคนไม่ลืม มันลืมยาก แต่ก็ขอสู้ต่อไป และประคับประคองครอบครัวที่เหลืออยู่ ให้มีชีวิตที่ปลอดภัย และให้ดีกว่าเดิม”
วันนี้เราเข้มแข็ง เราสามารถช่วยเหลือผู้อื่น ให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการช่วยเหลือเยียวยาซึ่งตลอดเวลาที่เราได้ช่วยเหลือคนอื่นนั้น วันนี้เราก็ได้กลายมาเป็นผู้ให้ จากมือล่างสู่มือบน”
      นั่นคือคำกล่าวจากของคอลีเยาะซึ่งแสดงให้เห็นถึงจิตใจที่เป็นนักสู้ บทบาทการทำงานของคอลีเยาะนั้นมีหลากหลายมากมายทั้งการจัดกิจกรรมสร้างความสามัคคีในชุมชนโดยได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 43 และอีกหลายหน่วยเฉพาะกิจ บทบาทการเป็นตัวกลางในการประสานงานช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบหรือได้รับความเดือดร้อน ความสูญเสียที่เกิดขึ้นจึงเป็นดังวิกฤติที่เปลี่ยนเป็นโอกาสให้เกิดพลัง
การพัฒนาตนเองสู่ความเป็นนักสู้ และต่อยอดสู่ผู้ประสานความเข้าใจ

      นอกเหนือจากบทบาทการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่เพื่อบูรณาการสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง คอลีเยาะยังมีส่วนเกี่ยวข้องในบทบาทการทำงานภาคประชาสังคม ทำหน้าที่ดูแลช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อนในเรื่องต่างๆ เป็นตัวกลางในการประสานงานระหว่างประชาชน และเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกัน ด้วยบทบาทการทำงานที่หลากหลายแต่มีจุดประสงค์เดียวคือ การสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เป็นที่รู้จักของหน่วยงานที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ และได้รับความไว้วางใจให้เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการเดินหน้าขับเคลื่อนจัดกิจกรรมร่วมกับภาครัฐ ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง และทำให้คนในชุมชนเกิดความรักความสามัคคี และพร้อมจะเป็นอีกหนึ่งเรี่ยวแรงที่จะมาร่วมพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง
      ในการทำงานของคอลีเยาะที่ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนจนเห็นผลสำเร็จ เป็นการเติมพลังการทำงานเพื่อก้าวเดินต่อไปอย่างมั่นใจ โดยเฉพาะกำลังใจจากหน่วยเจ้าหน้าที่ทหาร และเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความสุข และรอยยิ้มให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการให้ความสนับสนุน ให้การดูแล อะไรที่ขาดก็เติม ร่วมกันทำงาน ทำให้การทำงานเป็นไปได้อย่างราบรื่นและบรรลุผลสำเร็จ
ผู้ประสานสร้างสันติ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน

      จากจุดเริ่มต้นจากความสูญเสียทำให้เธอได้เปลี่ยนเหตุการณ์วิกฤติให้กลับกลายเป็นโอกาสครั้งสำคัญในการมีส่วนช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน และพัฒนาชุมชนบ้านเกิดของตนเอง โดยไม่คิดหวังสิ่งใดตอบแทน เน้นให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชน เธอเลือกที่จะหยิบยื่นโอกาสคนอื่นๆ แทนที่จะจมอยู่กับความโศกเศร้า เจ็บแค้น แต่ปล่อยวางความรู้สึกที่ไม่ดีที่เคยอยู่ในใจ และเลือกใช้ความรู้สึกที่ดี ความเป็นพี่น้อง ความเป็นคนไทยด้วยกันเพื่อสร้างสันติสุขในพื้นที่ให้เกิดขึ้น
      ภาพฝันสูงสุดของคอลีเยาะอยากจะให้พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่ที่ปลอดอาวุธ พื้นที่ที่ปลอดจากเสียงระเบิดและเสียงปืน ไม่มีใครต้องถูกทำร้าย คนที่เดือดร้อนได้รับการช่วยเหลือ การทำงานที่มุ่งเน้นแต่ผลประโยชน์ส่วนรวมโดยไม่คำนึงถึงความเหน็ดเหนื่อย ตลอดระยะเวลา 13 ปีที่ผ่านมาเด็กสาวธรรมดาคนหนึ่งเปลี่ยนเป็นหญิงแกร่งที่พร้อมจะขับเคลื่อนให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดสันติสุขด้วยภาพแห่งความรักและความสามัคคีของประชา ชน ในพื้นที่ที่เธอร่วมสร้างขึ้นนั่นเอง ผลสำเร็จที่เกิดขึ้น คือ ความเข้มแข็งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่เกิดจากการทำงานบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายปกครอง ซึ่งต่างเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนพื้นที่ให้เกิดความสันติสุข จากการทำงานด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจและเสียสละเพื่อส่วนรวม ทำให้คอลีเยาะกลายเป็นบุคคลต้นแบบที่ทำงานเพื่อสังคมอย่างแท้จริง

Comment
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.