ต้นแบบห้องเรียนวิถีอิสลาม โรงเรียนบ้านจะแนะ จังหวัดนราธิวาส

 13 มิ.ย. 2561 18:58 น. | อ่าน 4505
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

      จากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ส่งผลกระทบกับคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการศึกษา และด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ อาจทำเด็กบางกลุ่มไม่ได้รับการศึกษาอย่างครบถ้วน ทั้งสายสามัญ และสายศาสนา อย่างไรก็ตามมีโรงเรียนแห่งหนึ่งที่มีห้องเรียนวิถีอิสลาม เปิดการเรียนการสอนทั้งสายสามัญ และศาสนาควบคู่กันไป จนกลายเป็นโรงเรียนต้นแบบให้กับโรงเรียนอื่นๆ นำไปปรับใช้
ครูผู้บูรณาการแก้ไขปัญหา

      อาไซน์น่า อับดุลเลาะ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านจะแนะ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส เป็นคนอำเภอเมืองนราธิวาส ครอบครัวค่อนข้างยากจน เคยทำงานสารพัด ตั้งแต่ขายไอติม ไปจนถึงเป็นกระเป๋ารถ และขณะที่เป็นกระเป๋ารถนี่เอง ก็ได้เรียนศึกษาผู้ใหญ่จนจบ ม.3 เพื่อนก็ชวนไปสมัครเรียน ปกส. ที่วิทยาลัยครูยะลา จากเด็กผู้ชายจังหวัดนราธิวาสที่ครอบครัวมีฐานะยากจน แต่เมื่อมีโอกาสศึกษาเล่าเรียน ก็ไม่รีรอที่จะไขว่คว้าเอาไว้ และตั้งใจจนจบวิทยาลัยครูจังหวัดยะลา และได้รับราชการครู โดยไม่เคยคาดคิดเลยว่าจะได้มาเป็นครูที่บ้านเกิดของตัวเอง สอนวิชาคณิตศาสตร์ และสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต จนกระทั่งได้ก้าวมาทำงานบริหารที่โรงเรียนบ้านจะแนะ ในช่วงแรกที่ได้เข้ามาบริหารครูได้พบปัญหาทางด้านการศึกษาหลากหลาย ครอบครัวของนักเรียนมีฐานะยากจน และผู้ปกครองบางส่วนยังไม่เห็นความสำคัญของการศึกษาเท่าที่ควร ครูจึงพยายามทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง และชุมชนให้ได้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษา นอกจากจะเข้ามาบริหาร และพัฒนาโรงเรียนในเบื้องต้น ยังพัฒนาโรงเรียนเป็นโรงเรียนขยายโอกาสจากแต่เดิมมีเพียงชั้นประถมศึกษา ขยายการเรียนการสอนไปจนถึงมัธยมศึกษา ปีที่ 3 รวมถึงการคิดค้นหลักสูตรโรงเรียนวิถีอิสลาม เปิดการเรียนการสอนสายสามัญ และสอนศาสนาควบคู่กันไป
การจัดการศึกษาโดยชุมชน
      การจัดหลักสูตรการสอนเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผู้ปกครองต้องการให้บุตรหลานของตนเองได้เรียนทั้งสายสามัญ และสอนศาสนาควบคู่กันไป เพราะในวิถีชีวิตของชาวมุสลิมนั้น ศาสนาคือหลักในการดำเนินชีวิตของพวกเขา ถ้าเด็กๆ ได้เรียนศาสนาในโรงเรียน ปลูกฝังผ่านเนื้อหาวิชาการต่างๆ ตั้งแต่ยังเล็ก ได้เรียนอัลกุรอ่าน ได้แต่งกายตามหลัก ก็ทำให้เด็ก และผู้ปกครองมีความสุข ซึ่งคุณครูอาไซน์นาได้ริเริ่มห้องเรียนวิถีอิสลามขึ้นในโรงเรียนของตนเอง ครูอาไซน์น่า เริ่มจากการใช้วิชาภาษาต่างประเทศ มาบูรณาการการสอนด้วยภาษาอาหรับ และเป็นเนื้อหาการสอนศาสนา และได้รับผลตอบรับที่ดี

      จุดเริ่มของห้องเรียนวิถีอิสลามนั้นเริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ.2547 ได้มีการพูดคุยถึงสถานการณ์การศึกษาในขณะนั้น เด็กขาดเรียนกันมากโดยเฉพาะในวันพฤหัสบดี และวันศุกร์เด็กขาดเรียนถึง 40 เปอร์เซ็นต์ พฤติกรรมของเด็กค่อนข้างก้าวร้าว มีเด็กที่ติดยาเสพติด ผู้ปกครองบางส่วนก็ไม่เห็นความสำคัญของการศึกษา จึงปรึกษาหารือกันว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร และได้ข้อสรุปว่าทางออกโดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยริเริ่ม “ห้องเรียนวิถีอิสลามทดลอง” นำร่อง 1 ห้องเรียน เป็นเด็กประถม 1 จำนวน 30 คน ตอนเช้าเรียนวิชาสามัญ และเวลานับจากพักเที่ยงเป็นต้นไปจะมอบให้ชุมชนสอนในด้านศาสนา และวิถีชีวิต สอนในเรื่องกิริยามารยาทในการรับประทานอาหาร การอ่านดูอา การละหมาด หลังพักเที่ยงจะสอนศาสนา การอ่านอัลกุรอ่าน ภาษามลายู ผลที่ได้คือ ผลสัมฤทธิ์ของเด็กที่เรียนวิชาสามัญครึ่งวัน ผลสัมฤทธิ์ไม่ต่างกับเด็กที่เรียนเต็มวัน อ่านภาษาไทยได้คล่อง คิดเลขได้ และในด้านคุณธรรม กิริยามารยาทดีมาก จึงได้รับผลตอบรับจากชุมชนเป็นอย่างดี ในปีต่อมาชุมชนจึงเรียกร้องให้ขยายห้องเรียน ครูในโรงเรียนก็เห็นด้วย จากห้องเรียนนำร่องเพียงห้องเดียว จึงขยายเป็นหลักสูตรหลักห้องเรียนวิถีอิสลาม
8 สาระ ไม่ไร้สาระ​

      การเปิดหลักสูตรห้องเรียนวิถีอิสลามนั้น ได้จัดการให้มีการสอนอิสลามศึกษาควบคู่ไปกับวิชาสามัญพื้นฐาน ในส่วนของอิสลามศึกษามี 8 กลุ่มสาระเช่นเดียวกับวิชาสามัญ ได้แก่ อัลกุรอ่าน วัจนภาษา หลักศรัทธา ศาสนบัญญัติ คุณธรรมจริยธรรม ประวัติศาสตร์อิสลาม ภาษาอาหรับ และภาษามลายู เน้นกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตมุสลิม นอกเหนือจากการสอนให้ปฏิบัติตามหลักศาสนาอิสลาม ยังสอนให้รู้จักการให้หรือการบริจาคอีกด้วย เป็นการฝึกให้เด็กรู้จักการแบ่งปันและเสียสละให้ผู้อื่น เป็นการศึกษาที่ตอบสนองความต้องการของคนในชุมชน ซึ่งต่อมาได้รับการยอมรับจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการให้การสนับสนุนงบประมาณ และขยายหลักสูตรไปยังโรงเรียนอื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 5 จังหวัด 350 โรงเรียน
      โรงเรียนบ้านจะแนะจึงกลายเป็นโรงเรียนต้นแบบที่สามารถบูรณาการการศึกษา โดยการขับเคลื่อนการสอนศาสนาอิสลามแบบเข้มข้มให้กับนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการสอนปฏิบัติตามหลักศาสนาจนเป็นที่ยอมรับของคนในชุมชน และโรงเรียนอื่นๆ ในพื้นที่ นอกจากนี้ครูอาไซน์น่ายังร่วมทำโครงการอื่นกับชุมชน เพราะหลักคิดของครูนั้นเห็นว่าชุมชนเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนการศึกษาของเด็กๆ เพราะในแต่ละชุมชนมีสภาพบริบททางสังคม และมีความต้องการต่างๆ กัน ไม่ใช่ในเรื่องการศึกษาเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องประเพณี และวัฒนธรรมที่ต้องทำความเข้าใจเพื่อเข้าถึงชุมชนนั้นๆ เช่น ประเพณีการกวนอาซูรอ ในเดือน 1 ของปฏิทินอิสลาม ทางโรงเรียนก็ให้บริการพื้นที่ในการจัดงานประเพณี และมีการให้บริการการเข้าสุนัต จากเดิมที่ต้องทำที่บ้าน แต่ทางโรงเรียนก็จัดให้บริการมาเรื่อยๆ จนชุมชนเห็นประโยชน์ ถ้าเด็กไม่สบายก็มีโครงการเยี่ยมเด็กที่บ้าน ทำให้ครูได้รู้จักชาวบ้าน ชาวบ้านได้รู้จักครู ครูเองก็ได้เรียนรู้ปรัชญาความเป็นครูในวิถีอิสลามไปด้วยเช่นกัน
      ห้องเรียนวิถีอิสลามจึงเป็นผลของความมุ่งมั่นพยายามในการพัฒนายกระดับการศึกษาในพื้นที่ให้ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจ ยึดมั่นศรัทธา และปฏิบัติตนตามหลักศาสนาอิสลาม เพื่อให้ผู้เรียนสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสงบสุข การแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ควรให้ความสำคัญที่การศึกษาเป็นอันดับแรก แต่ต้องเป็นการศึกษาที่ถูกต้อง เป็นการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการชุมชน ไม่ใช่การยัดเยียด เน้นในเรื่องคุณธรรม ให้เด็กได้ปฏิบัติตามหลักศาสนา เพราะทุกศาสนาสอนให้ทุกคนเป็นคนดี ไม่ใช่เน้นแต่เนื้อหาวิชาการ หรือให้ความสำคัญแต่กับเด็กเก่งอย่างเดียว ต้นแบบห้องเรียนวิถีอิสลามที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนนั้น ทำให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา และนำมาซึ่งความสามัคคีระหว่างโรงเรียน และชุมชนเป็นอย่างดี ก่อให้เกิดความยั่งยืน และมั่นคงในชุมชน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำมาซึ่งสันติสุขให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง และยั่งยืน

Comment
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.