การเปิดพื้นที่ทางอัตตลักษณ์ คือ การเปิดพื้นที่สันติสุข

 17 ก.พ. 2558 17:22 น. | อ่าน 5488
Facebook Twitter Pinterest LinkedIn Google+

ช่วงสาม-สี่ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่ตัวตนความเป็นมาลายูมีพื้นที่เปิดกว้างขึ้นเป็นอย่างมากในจังหวัดชายแดนภาคใต้  การสื่อสารด้วยภาษามาลายูถิ่นได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ด้วยการเปิดสอนภาษามาลายูคู่กับภาษาไทยตั้งแต่ระดับประถมในหลักสูตรที่เรียกว่า ทวิภาษา ป้ายสถานที่ราชการ ถนนหนทาง มีตัวอักษรยาวีควบคู่กับภาษาไทย รวมทั้งการผลิตรายการโทรทัศน์และวิทยุภาษามาลายูถิ่นอย่างกว้าง  และช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เทศบาลนครยะลาก็มีการจัดงาน Melayu Day of Yala ซึ่งมีกิจกรรมมากมาย ที่สะท้อนอัตตลักษณ์ความเป็นมาลายู ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแต่งกาย อาหารและขนมพื้นถิ่น ที่มีตัวตนความเป็นมาลายูมุสลิม

 

การเปิดพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และภาษา ให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าที่มีความหลากหลายทางชาติพันธ์ ภาษา ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม ได้มีพื้นที่ของตนเอง เป็นกระบวนการที่สามารถหลอมหลวมความหลากหลายให้ผู้คนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขในร่มสังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นในประเทศสมาชิกอาเซียน เช่น สิงคโปร์ ประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายจีนกว่า 70 เปอร์เซนต์ ตามมาด้วยคนเชื้อสายมาเลย์ 13 เปอร์เซนต์ และคนเชื้อสายอินเดียประมาณ 9 เปอร์เซนต์ แต่สิงคโปร์ก็ไม่ได้มีภาษาจีนเป็นภาษาทางการ  ตรงกันข้ามเพื่อสอดรับกับความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม รัฐธรรมนูญสิงคโปร์บัญญัติให้มีภาษาราชการ 4 ภาษา คือ อังกฤษ จีน มาเลย์ และทมิฬ (ภาษาที่ใช้ในรัฐภาคใต้ของอินเดีย)

 

กรณี ประเทศมาเลเซีย โครงสร้างประชากรกลับด้านกับสิงคโปร์ กล่าวคือ คนเชื้อสายมาเลย์ หรือภูมิปุตรา เป็นประชากรส่วนใหญ่ ตามาด้วยคนเชิ้อสายจีนและอินเดีย และถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญมาเลเซียบัญญัติให้มีภาษาราชการภาษาเดียวคือ บาฮาซามาเลเซียหรือภาษามาลายู โดยมีเป้าหมายเพื่อใช้ภาษาเป็นกลไกสร้างความเป็นหนึ่งเดียวของคนในชาติ แต่ รัฐบาลมาเลเซีย ก็มีนโยบายเปิดกว้างทางภาษา วัฒนธรรม ให้กับประชากรกลุ่มอื่นที่ใม่ใช่มาเลย์ เช่น ระบบการศึกษาระดับประถมศึกษา ที่จัดแบ่งโรงเรียนเป็นสองประเภท คือ โรงเรียนระดับชาติ (national school) โรงเรียนประเภทนี้ใช้บาฮาซามาเลเซีย เป็นภาษาในการเรียนการสอน ส่วนประเภทที่สอง คือ โรงเรียนสำหรับนักเรียนเชิ้อสายจีนและอินเดีย (national type) โรงเรียนประเภทนี้จะใช้ภาษาจีน หรือ ภาษาทมิฬ ในการเรียนการสอน นอกจากนี้ มาเลเซียยังมีสถานีโทรทัศน์ภาษาจีนและภาษาทมิฬ เป็นทางเลือกให้กับประชากร อีกด้วย

 

การเปิดพื้นทื่ทางภาษา ศิลปวัฒนธรรมให้กับประชากรกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ใช่ชาติพันธ์หลักนับว่าเป็นกลไกสำคัญในการสร้างสันติสุข ในสังคมพหุวัฒนธรรม เช่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย ซึ่งแทบไม่ปรากฏความขัดแย้งอันเนื่องมาจากความแตกต่างทางชาติพันธ์เลย เช่นเดียวกับ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนจากค่ายปิเหล็ง ในเดือนมกราคม ปี 2547 ผู้คนต่างศาสนิก ต่างชาติพันธ์ ทั้งไทย จีน มาลายู และต่างศาสนิก ต่างก็อยู่ร่วมกันอย่างพี่น้อง ที่เคารพซึ่งกันและกัน

 

จนกระทั่งหลังปี 2547  กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ พยายามอย่างยิ่งในการที่จะสร้างรอยร้าวในพหุสังคม พยายามใช้เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์เพื่อปฏิเสธการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ปฏิเสธสังคมพหุวัฒนธรรม ดังนั้นการที่ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนการเรียนการสอนภาษามาลายูในระดับประถมศึกษาก็ดี หรือการทึ่หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเทศบาลนครยะลาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงจัดงาน Melayu Day of Yala โดยมีพลโทปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่สี่ ไปร่วมพิธีเปิดงานด้วย จึงเป็นสิ่งที่ควรปรบมือ สนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง เพราะการเปิดพื้นที่ทางภาษา และศิลปวัฒนธรรม คือ การเปิดพื้นที่สันติสุข เฉกเช่นที่ประเทศเพื่อนบ้านของเราคือมาเลเซียและสิงคโปร์ ใช้สร้างสันติสุขในสังคมพหุวัฒนธรรม อยู่จนถึงทุกวันนี้ อีกทั้งเป็นที่น่ายินดีที่ พลโทปราการ ผอ.รมน.ภาค 4 ตระหนักดีถึงความสำคัญของการเปิดกว้างยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ดังที่ท่านได้กล่าวในงานว่า กิจกรรมเชิงวัฒนธรรม และศาสนา เป็นการเสริมสร้างความอันดีซึ่งกันและกัน ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขบนความหลากลายทางศาสนาและวัฒนธรรม

Comment
SOUTHDEEPOUTLOOK.com - Thailand South Deep News

An Internal Error Has Occurred.

Error: An Internal Error Has Occurred.